“ความจริงที่ปราศจากการปรองดองในชิลี: คำให้การของผู้ถูกทรมานและการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีออกุสโต ปิโนเชต (Truth Without Reconciliation in Chile: Testimonies of the Tortured and the case Against Augusto Pinochet )”

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร แปลและเรียบเรียง


           คนไทยส่วนใหญ่รู้จักประเทศชิลีจากฝีมือในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับนานาชาติ เนื่องจากทีมชาติชิลีเคยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 7 ครั้ง และยังเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อค.ศ. 1962 ซึ่งในปีนั้นชิลีได้ถึงอันดับที่ 3

           ในด้านการเมืองนั้น การจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของรัฐบาลต่างๆในอเมริกาใต้มักจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การจับผู้ต้องสงสัยไปทรมานให้ยอมรับสารภาพ โดยเฉพาะในอาร์เจนตินาและชิลี บทความของเทมมา แคปแลน (Temma Kaplan)แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค(The State University of New York at Stony Brook) เรื่อง “ความจริงที่ปราศจากการปรองดองในชิลี: คำให้การของผู้ถูกทรมานและการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีออกุสโต ปิโนเชต (Truth Without Reconciliation in Chile: Testimonies of the Tortured and the case Against Augusto Pinochet )” ระบุว่า ความหวาดกลัว(fear)และความสยดสยอง(terror)มักจะถุกนำมาใช้เพื่ออธิบาย17ปีอันยาวนานในยุคเผด็จการของอดีตประธานาธิบดี นายพลปิโนเชตแห่งชิลี (1973-1990) ในช่วงดังกล่าว วิธีการทรมานถูกถูกมาใช้กับชาวชิลีที่ต่อสู้ปกป้องตนเองและชุมชนจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม การใช้วิธีการน่าอับอายเพื่อสร้างภาพทางการเมืองให้ดูบริสุทธิ์ยุติธรรม จนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง กระบวนการต่างๆในการเอาชนะความหวาดกลัวและความน่าละอายใจและเพื่อสนับสนุนให้ศัตรูเก่ากลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้งอย่างสันติ ยังเป็นเรื่องด่วนสำหรับรัฐบาลที่บริหารประเทศท่ามกลางความหวาดกลัวสืบมา และไม่มีอะไรที่จะทำให้ชาวชิลีพรั่นพรึงไปกว่าการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม แม้ว่านับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสจะส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลกต่อต้านการทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาสารภาพ แต่ในความเป็นจริงหลังคริสต์ศตวรรษที่18 ตำรวจสเปนก็ได้นำวิธีการทรมานกลับมาใช้กับฝ่าย

           ต่อต้านรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้หนังสือพิมพ์ทั่วโลกเรียกรัฐบาลสเปนว่า พวกป่าเถื่อน(barbaric) ถึงกระนั้นรัฐบาลแอฟริกาใต้ ภายใต้ระบบเหยียดผิว(Apartheid) และรัฐบาลชิลีภายใต้ระบอบเผด็จการทหารก็ยังใช้วิธีการทรมานมาบังคับให้นักโทษยอมรับสารภาพโดยปราศจากความผิดและยังนำวิธีการทรมานมาใช้กับประชาชนส่วนใหญ่อีกด้วย

           แม้รูปแบบการทรมานจะคล้ายกัน แต่รัฐบาลทหารมือเปื้อนเลือดของอาร์เจนตินาและชิลีก็มีวิธีการบางอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ พวกเขามักจะทำภารกิจแบบลับๆ สร้างภาพของตนเองแบบปราศจากเหตุผล ซึ่งทำให้ผู้ไม่ใช่สนับสนุนระบอบเผด็จการทหารเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ยกตัวอย่างของพลเอก อิแบริโก แซนต์-เตียง (Ibérico Saint-Jean) ผู้นำทหารของอาร์เจนตินาในยุคสงครามโสมม(Dirty War 1976-1983) เคยประกาศว่า “อันดับแรก คือ เราจะฆ่าพวกที่มุ่งจะล้มล้างรัฐบาลทั้งหมด ต่อมาเราจะฆ่าผู้ให้ความร่วมมือ จากนั้นก็จะฆ่าพวกที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและพวกพ้องทั้งหลาย และสุดท้ายเราจะฆ่าพวกโลเล(the undecided) และก็ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาจากกองทัพล้วนแต่ไม่ถูกนำตัวไปดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาในศาลยุติธรรม แต่กลับถูกนำตัวไปจากวิถีการดำเนินชีวิตสาธารณะปกติและหายสาบสูญไปราวกับราตรีกาลและสายหมอกตามคำกล่าวของพวกนาซี เหตุนี้จึงทำให้บรรดาผู้รอดตายชาวอาร์เจนตินาและชิลีต่างก็ยังคงเก็บตัวอยู่ท่ามกลางความเงียบ ดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบ และไม่กล้าสบตาผู้อื่น แต่ก็มีผู้รอดตายหลายคนยอมออกมาพูดถึงจำนวนคนที่เก็บตัวเงียบและความเจ็บแค้นแทนพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นการทำลายความเงียบอันมืดดำ และให้เรื่องราวต่างๆ ให้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และเพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ถูกทรมานภายใต้นักทรมานและฆาตกรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอันเป็นวิถีอย่างหนึ่งแห่งการสร้างสรรค์ชุมชนใหม่ทางการเมือง

          เอเลน สคาร์รี (Elaine Scarry) เสนอว่า การทรมานนอกจากจะบั่นทอนร่างกายแล้ว ยังทำลายขวัญและกำลังใจของชุมชน ความเจ็บปวดอย่างรุนแรงจากการถูกทรมานทำให้ประชาชนไม่อยากจำอดีตและขัดขวางต่อการสร้างความหวังในอนาคต การใช้ผ้าผูกตานักโทษในอาร์เจนตินาและชิลี การลักพาตัว การสร้างความอับอายต่อหน้าญาติพี่น้อง การทำให้ประชาชนสูญเสียความภาคภูมิใจ ตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบ หรือ เป็นคำถามที่ผู้ต้องหาทราบคำตอบดีอยู่แล้ว ขนย้ายผู้คนไปรอบๆแล้วข่มขู่ให้กลัวจนแทบจะทำให้เสียสติ หรือ ทำให้สูญเสียความเข้มแข็ง

            ในกรณีของนางสาวลูซ เดอ ลาส เนียเวส แอเรสส์ โมเรโน (Luz de las Nieves Ayress Moreno) นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่ออิสรภาพของคนจนในลาตินอเมริกา หนีออกจากชิลีเพื่อไปร่วมรบกับกองกำลังนอกกฎหมายในโบลิเวีย แต่เดิมนั้นบรรดานักศึกษามักจะถูกมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัย แอเรสส์จึงถูกจับเมื่อวันที่11 มิถุนายน ค.ศ.1973 เธอถูกนำตัวไปยังสนามฟุตบอลแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นเรือนจำและสถานที่ทรมานผู้ต้องขัง และที่นี่เองซึ่งเธอถูกจี้ด้วยไฟฟ้าไปทั่วร่างกาย แต่ไม่นานนักแอเรสส์ก็ถูกปล่อยตัว เธออยู่แยกกับบิดามารดาและกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยปริญญาโทเมื่ออายุ 23 ปี สาขาพัฒนาการเด็ก ขณะเดียวกันก็กลายเป็นนักเคลื่อนไหวท่ามกลางนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร แอเรสส์รู้จักกับชาวอาร์เจนตินาชื่อ อัลแบร์โต หรือ ผู้การเอสเตบาน(Comandante Esteban) ผู้ประกาศตัวเป็นสมาชิกของฝ่ายซ้ายในอาร์เจนตินา จากนั้นก็เสนอการช่วยเหลือทางการเงิน อาวุธและการฝึกฝนแก่แอเรสส์และพรรคพวก แอเรสส์ไม่ใคร่อยากจะจับอาวุธสู้กับรัฐบาลเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นข้อห้ามของพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน อย่างไรก็ดี สมาชิกอีก11 คน ในกลุ่มของแอเรสส์รับข้อเสนอของอัลแบร์โต ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ.1974 ก็พบศพของพวกเขามีร่องรอยของการถูกทรมานอย่างรุนแรง

           แอเรสส์มาจากครอบครัวนักธุรกิจเสรีนิยมชั้นกลางซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นพวกสังคมนิยมพวกแรกๆของชิลี ปู่ของเธอเป็นชาวสกอตแลนด์สายสกุลแมคแอร์ หรือ ย่อเป็นแอเรสส์ในภาษาสเปน หลังจากเพื่อนในกลุ่มตายเธอก็ยังคงทำงานใต้ดิน แต่วันหนึ่งในเดือนมกราคม 1974 เมื่อเธอได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวซึ่งทำธุรกิจโรงงานปรุงยาขนาดเล็กตอนบ่ายโมง เธอพบว่าบิดาของเธอและลูกค้าบางคนถูกผู้การเอสเตบานและลูกน้องจับตัวไว้ตั้งแต่ 9 โมงเช้า เธอและบิดาถูกนำไปที่บ้าน จากนั้นมารดาและน้องชายก็ถูกจับผูกตาเพิ่ม และทุกคนถูกนำตัวไปยังสำนักงานข่าวกรองของกองทัพ และถูกจับทรมานอย่างรุนแรงนานถึง40 เดือน

             คดีของเนียเวส แอเรสส์ เป็นเรื่องราวอันดับต้นๆในหลายๆเรื่องของปัจเจกชนที่รู้กันนอกประเทศชิลี แม้ว่านักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์คาทอลิกจะคุ้นเคยกับกลยุทธ์ของรัฐบาลปิโนเชตตั้งแต่ยุคแรกๆของการทำรัฐประหาร สังคมนานาชาติรู้ดีว่า กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศกำลังตามจับคนงาน นักศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคเสรีนิยม ชาวชิลีบางคนออกไปจากสนามฟุตบอลแห่งชาติในเมืองซานติเอโก แต่วิกเตอร์ ฮารา (Victor Jara) นักร้องเพลงพื้นเมืองชื่อดังได้ชวนเพื่อนผู้ต้องขังร้องเพลงเรียกร้องให้มีรัฐบาลเอกภาพที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมาย(the legally elected popular unity government) อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารบังคับให้เขาเล่นกีตาร์ไปตัดนิ้วเขาไปทีละนิ้วๆ ส่วนคดีอื่น เช่น กรณีของชารลส์ ฮาร์มอน (Charles Harmon) ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง “The Missing” เกิดขึ้นที่เมืองวัลปารัลโซ(Valparalso)ระหว่างการรัฐประหาร โดยเริ่มจากระหว่างการเดินทางกลับเมืองซานติเอโก เขาเขียนเล่าให้ภรรยาฟังว่า รู้สึกประหลาดใจเมื่อพบกลุ่มที่ปรึกษาทางการทหารชาวอเมริกันจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งเขาได้พบมาแล้วก่อนหน้านั้นใกล้ฐานทัพเรือ เขาสงสัยว่าการปรากฏตัวของทหารอเมริกันจำนวนมากนี้ จะบ่งชี้ถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหาร หลังจากนั้นไม่นานนัก ฮาร์มอนก็ถูกคนในกองทัพชิลีลักพาตัวและสังหารทิ้ง หลักฐานส่วนใหญ่เกี่ยวกับฮาร์มอนมาจากผู้ต้องขังที่รอดตายซึ่งคาดเดาว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับฮาร์มอนและคนอื่นๆ เพราะหลักฐานปฐมภูมิของผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเหลืออยู่ในมือทหารน้อยมากในช่วงที่มีความพยายามบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะที่มีประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประเทศแรกในอเมริกา

            เนียเวส แอเรสส์ โมเรโน เหมือนกับอีกหลายคนที่มีอายุรุ่นเดียวกัน คือ สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพนิยมแห่งสหพันธ์ซัลวาดอร์(Popular Unity government of Salvador Allende) ขณะที่เธอยังถูกคุมขังและเผชิญกับความตายอยู่ทุกวันนั้น แอเรสส์ต้องเสี่ยงชีวิตและสวัสดิภาพทางจิตใจในการบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้การตอกย้ำความจริงอีกด้านหนึ่งซึ่งฝ่ายผู้ลงทัณฑ์ทรมานประชาชนพยายามสร้างภาพลวงชาวโลกเอาไว้ ตามคำกล่าวของเอเอน สคาร์รีที่ว่า การทรมานเป็นการกระทำที่ทำลายภาษา กล่าวคือ การเขียนหรือพูดเสียงดังเป็นทั้งตัวแทนของความพยายามในการตอกย้ำความมีตัวตนและการอยู่ร่วมในสังคมใหญ่ที่กว่า อลิเซีย พาร์ทนอย(Alicia Partnoy) นักโทษซึ่งถูกจับระหว่างสงครามโสมมในอาร์เจนตินา และเนียเวส แอเรสส์ ในชิลีใช้ภาษาคนละแบบตามความจำเป็นเพื่อการปรองดองกับสังคมของตน ระหว่างถูกทรมานอยู่ในคุก พาร์ทนอยใช้วิธีการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็ก เธอใช้วิธีทั้งท่องจำและใช้กล่อมลูกของเธอเอง ซึ่งแม้จะทุกข์ทรมาน แต่การท่องจำสิ่งไร้สาระทั้งหลายนั้น ตามคำกล่าวของเซียง ฟรังโก (Jean Franco) ระบุว่า “ทำให้ตัวเธอจมอยู่กับแบบแผนที่จะทำให้ทั้งรอดตายและรักษาความเป็นมนุษยชาติของตนเองและผู้อื่นระหว่างที่เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดได้” ส่วนเนียเวส แอเรสส์ ระบุว่าระหว่างถูกทรมานเธอร้องเพลงให้ตัวเองหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตฟัง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนของการถูกขัง ผู้ทรมานถามว่าเธอพูดกับใคร เธอตอบว่า “ประตู ลูกกรง หน้าต่าง” คล้ายกับคนเมาคือพยายามพูดเพื่อกระตุ้นเตือนสติสัมปัชชัญะของตน นักโทษหลายคนหมดหวัง และพยายามลืมความเจ็บปวดแต่แอเรสส์ยืนกรานที่จะจดจำไว้ เรื่องของเธอถูกเปิดเผยหลังจากเธอถูกนำออกจากที่คุมขังโดยซุกซ่อนไว้ในช่องคลอดของผู้ต้องขังหญิงที่ถูกปล่อยตัวออกไปและลี้ภัยในยุโรป แอเรสส์ เล่าเรื่องของเธอซ้ำแล้วซ้ำอีกในเวลาต่อมา แต่โลกได้รับรู้เรื่องราวของเธอครั้งแรกในแถลงการณ์ลงวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 ในที่ประชุมกลุ่มที่ 3 ของคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยอาชญากรรมที่เกิดจากรัฐบาลทหารชิลี (The 3rd session of International Commission on Crimes of the Military Junta in Chile) แฟนนี เอเลแมน (Fanny Eleman) เลขาธิการของสหพันธ์นานาชาติว่าด้วยประชาธิปไตย ซึ่งมีศูนย์กลางตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (The Democratic Republic of Germany)เป็นผู้เล่าเรื่องราวชะตากรรมของแอเรสส์กับครอบครัวซึ่งถูกจับแยกขังตามที่ต่างๆก่อนที่จะจับมาขังรวมในที่เดียวกัน ในช่วงแห่งการถูกลิดรอนเสรีภาพนั้น ครอบครัวจะทราบข่าวกันก็ต่อเมื่อถูกปล่อยตัวหรือตาย มารดาของแอเรสส์ ได้นำคดีของเธอฟ้องศาลชั้นต้นแห่งซานมิเกล ในกรุงซานดิเอโก เมื่อ 11 มีนาคม 1974 แต่ศาลไม่รับฟ้องเนื่องจากเกรงอิทธิพลรัฐบาลทหาร แอเรสส์เล่าในงานเขียนของเธอว่าวันที่ถูกจับ เธอถูกเปลื้องผ้ามัดมือมัดเท้าโยนลงบนถนนเปียกๆในย่านธุรกิจกลางเมืองซานดิเอโก แล้วถูกไฟช๊อตตามอวัยวะช่องปิดต่างๆบนร่างกาย จากนั้นก็กรีดร่างกายของเธอ ใช้ไฟช๊อตบนแผล แขวนเธอไว้บนเพดานยัดแท่งไม้และขวดแก้วเข้าไปในช่องทวารหนักและอวัยวะเพศแล้วก็ข่มขืนเธอ แอเรสส์สลบไปหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่า ชาย 5 คนซึ่งเป็นผู้ทรมานเธอนั้น พาบิดาและน้องชายอายุ 15 ปีของเธอเข้ามาแล้วบังคับให้ข่มขืนเธอ ทำให้เธอสลบไปอีกครั้ง เธอถูกข่มขืนมากกว่า 40 ครั้ง และถูกทรมานโดย นายพลเอกมานูเอล คอนเตรราส (General Manuel Contreras) หัวหน้าสำนักข่าวกรองทหาร (The National intelligenceซึ่งต่อมาคือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติที่มีชื่อว่า DINA) ขึ้นตรงต่ออดีตประธานาธิบดีออกุสโต ปิโนเชต

             ระหว่างถูกทรมานแอเรสส์มีความรู้สึกว่างเปล่าและหัวใจดูเหมือนจะหยุดเต้น เธอเกือบตายหลายครั้งทำให้ผู้ควบคุมต้องนำแพทย์เข้ามารักษา เมื่อเธอฟื้นก็พบว่า บิดาและน้องชายถูกจับโยนขึ้นรถบรรทุกเนื้อย้ายไปคุมขังแห่งเตมาส แวเดส ( Tejas Verdes) ครั้งหนึ่งผู้คุมหลายคนโยนนักโทษลงจากรถแล้วขู่ว่าจะลงโทษพวกเขา บิดาและน้องชายของเธอถูกย้ายไปยังคุกเตรส อลามอส (Tres Alamos) ไม่มีใครทราบข่าวหลังจากนั้นอีกเลย เธอถูกพยาบาลเข้ามาตรวจว่าใกล้ตายแล้วหรือยัง ผู้คุมกับบุคลากรทางการแพทย์มีความสัมพันธ์แบบสลับซับซ้อน แอเรสส์ทราบมาว่าผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ 5 เดือนจากการถูกข่มขืนและแพทย์พยายามตรวจจนแน่ใจว่าได้ยินเสียงหัวใจของเด็กอ่อนในครรภ์ยังเต้นอยู่จากนั้นก็ส่งไปให้ผู้คุมทรมานต่อ หลายเดือนผ่านไปแอเรสส์ก็ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนหลายครั้ง ปรากฏว่าสูตินรีแพทย์ที่คุมขัง ดร.เมอรี่ (Dr.Mery) ซึ่งสอนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งกรุงซานดิเอโกแสดงความยินดีกับเธอที่ได้รับเกียรติยศจาการที่เธอสามารถ “ตั้งครรภ์ทารกแห่งมาตุภูมิ” ระหว่างที่แพทย์พยายามรักษาชีวิตให้สามารถรับความเจ็บปวดต่อไปได้นั้น ผู้ทรมานก็บรรเลงเพลงไปแล้วเปิดดังขึ้นๆพร้อมกับยัดผ้าขี้ริ้วอุดปากเหยื่อมิให้กรีดร้อง ต่างจากอาร์เจนตินาซึ่งที่คุมขังตั้งอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน ในชิลีผู้ทรมานจะถูกปฏิบัติในค่ายกักกัน เช่น เตรมาส แวเดส หรือในที่เปลี่ยวอย่าง วิลลา กรีมัลดี (Villa Grimaldi) ก่อนที่แพทย์จากองค์การกาชาดสากล (International Red Cross) จะเข้ามาดำเนินการสอบสวนผู้คุมหลายคนได้นำตัวแอเรสส์ ออกไปซ่อนในป่า จนกระทั่งแพทย์จากองค์การกาชาดสากลเดินทางกลับไป นักโทษคนอื่นๆ ได้แก่ อัครสังฆราช (Arch bishop) แฟร์นันโด อริสเตีย (Fernando Aristia) แห่งซานดิเอโก ซึ่งกองทัพเคยคิดว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับตน ดร.ฟิลิปแป (Dr.Phillippe) ชาวสวิส ดร.ฟอน ไกเซอร์ (Dr. Van Kayser) ชาวเยอรมัน นายโอฟิลา (Mr.Orfila) จากองค์กรรัฐอเมริกัน (The Organization of American State ) และสมาชิกคณะกรรมการเคนเนดี แอเรสส์ถูกขังเดี่ยวในห้องขนาด6x6 ฟุต มีอาหารมาโยนให้ไม่ตรงเวลา ต้องคลานกินอย่างสัตว์ เธอถูกนำตัวไปส้วมทุก 6 โมงเช้าไม่มีสบู่และไม่มีทางรักษาแผลบนร่างกายได้เลย กุญแจมือ การช๊อตด้วยไฟฟ้าและการถูกข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ทรมานก็ปฏิบัติต่อนักโทษราวกับเป็นสัตว์ ผู้คุมฝึกให้นักมวยข่มขืนผู้หญิง แอเรสส์และคนอื่นๆถูกจับหนูยัดใส่ช่องคลอด หลังจากนั้นมันก็พยายามกัดเนื้อเยื่อของเธอเพื่อหาทางออกมา หลังจากถูกทรมานมากมาย แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าผู้ทรมานต้องการทราบเรื่องอะไร

          แอเรสส์ ถูกจับขังที่สนามฟุตบอลแห่งชาติ หลังการรัฐประหารโดยพนักงานสอบสวนได้ถามถึงที่ซ่อนอาวุธและเรือดำน้ำ ต่อมาระหว่างการคุมขังอันยาวนาน พนักงานสอบสวนถามมากจนเธอมึนงงแล้วเขียนระบายความรู้สึกครั้งแรกของการติดต่อกับโลกภายนอกว่า “ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการให้ฉันบอกอะไร...พวกเขากล่าวหาเรื่องร้ายแรงและบ้าๆซึ่งฉันไม่ได้ทำ” การที่เธอปฏิเสธที่จะตอบคำถามแก่พนักงานสอบสวนก็เพื่อปกป้องเพื่อนของเธอที่นำเอาหลักฐานจากในคุกออกมาเผยแพร่ข้างนอก ไล่ๆกับการจับกุมออกุสโต ปิโนเชต ที่ลอนดอน เมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1998

           แอเรสส์ได้เริ่มติดตามการพิจารณาคดีของเธอซึ่งได้ยื่นฟ้องไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 โดยเธอพยายามรักษาชีวิตให้รอดตายในคุก จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1996 เธอและเพื่อนร่วมคุก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ถูกปล่อยออกมาและลี้ภัยออกจากชิลี แอเรสส์เดินทางไปยังเยอรมนี อิตาลี คิวบา และเม็กซิโก ซึ่งล้วนมีองค์การฟื้นฟูช่วยเหลือชาวชิลี และกำลังต่อสู้ล้มล้างระบอบปิโนเชต พบกับน้องสาวที่อเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1985 เธอทราบว่าบ้านของเธอที่เม็กซิโกถูกภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวทำลาย เธอและสามี (Victor Toro) ผู้ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้าย (Movimiento Izguierdo Revotucionario , the Revolulionary Leftist Movement) ถูกตามล่าตัว สามีของเธอถูกจับและถูกทรมานให้บอกชื่อสมาชิกร่วมขบวนการ ซึ่งถูกหมายหัวตลอดยุคของปิโนเชต เมื่อเธอกับสามีย้ายไปอยู่ที่ย่านคนจนใน เซาท์บรองซ์ ทั้งสองได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่สำคัญคือให้การช่วยเหลือสตรีที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงในครอบครัว

           โตโร สามีของแอเรสส์และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชิลี ทำให้มีชาวชิลีเข้าร่วมขบวนการด้วยหลายหมื่นคนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลปิโนเชต ญาติของเหยื่อซึ่งถูกจับก็ก่อตั้งกลุ่มครอบครัวของผู้สูญหาย (Families of the Disappeared) โดยมีองค์การต่างๆให้การสนับสนุน อาทิ ศาสนจักรคาทอลิก หลังการรัฐประหาร แต่การเคลื่อนไหวใหญ่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1978 สองปีหลังจากแอเรสส์ถูกขับออกจากชิลี โดยวันที่ 8 มีนาคม 1978 ตรงกับวันสตรีสากล มีการเสวนากันในกลุ่มนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ศิลปิน ปัญญาชน และนักหนังสือพิมพ์ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มสหภาพคนสร้างบ้านแห่งชาติ (The National Union of Homeworkers) จัดประชุมในภาพยนตรืใหญ่ที่สุดของซานดิเอโกเพื่อยุติความรุนแรงในชิลี ต่อมาในเดือนเมษายน สหภาพคนงานเหมืองทองแดงได้เรียกประชุมด่วน แต่ก็ถูกปราบอย่างรุนแรง วันแรงงาน ถือเป็นโอกาสสำคัญของการออกชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดหลายหมื่นคนในลานอนุสาวรีย์กลางเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิบุคคล และสิทธิทางการเมืองหลังปี 1973

           กระแสคลื่นต่อต้านครั้งแรกนำมาซึ่งการล้อมปราบของรัฐบาลอีกครั้ง ภายในวันเดียวโดยรัฐบาลและทหารไม่คิดว่าจะมีการต่อต้านอีก จากนั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเอง หลังการรัฐประหารโดยระบุว่าการนิรโทษกรรมขัดรัฐธรรมนูญปี 1980 นั้น เป็นการปกป้องประชาธิปไตย จอร์จ ออรเวล (George Orwell) ตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวระบุว่ากองทัพเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย มีการตั้งวุฒิสภาอันประกอบด้วย สมาชิก 39 คน โดยมีสมาชิก 9 คน มาจากการแต่งตั้ง ประธานสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ถือเป็นสมาชิกถาวรของวุฒิสภา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมิให้สมาชิกรุ่นใหม่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ ชาวชิลีจำนวนมากได้ออกมาลงประชามติต่อรัฐธรรมนูญปี 1980 ในฐานะเป็นก้าวแรกของการปกครองโดยพลเรือน

           การชุมนุมใหญ่เริ่มในเดือนพฤษภาคม 1982 และมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง นายพาทริโอ เอลวิน (Patricio Alwin) แห่งพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democrat) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนปิโนเชตในปีค.ศ.1990 เขามีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยอีกครั้งในชิลี การประท้วงครั้งสำคัญของกลุ่มคนงานเหมืองทองแดง การประท้วงของนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน กลุ่มสตรีเพื่อชีวิต (Woman for life) ร่วมกันประท้วงอย่างต่อเนื่องนาน 6 ปี จนเป็นเหตุให้นายพลออกุสโต ปิโนเชตต้องจัดการลงประชามติในปี 1988 อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการโค่นล้มปิโนเชต การประท้วงขับไล่ปิโนเชตครั้งสำคัญเกิดเมื่อ 22 ธันวาคม 1984 จัดโดยกลุ่มสตรีเพื่อชีวิตในสนามฟุตบอลแห่งชาติที่กรุงซานดิเอโกซึ่งชาวชิลีหลายคนถูกทรมานและถูกฆ่าตาย ระหว่างชมการแข่งขันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ ผู้หญิงเหล่านี้ได้ซ่อนป้ายผ้าเข้าไปด้วย จากนั้นก็ชูป้ายที่มีสโลแกนของกลุ่มว่า “No More”

           (Not +, หมายถึงไม่เอาความรุนแรงและเผด็จการอีกแล้ว) ผู้ร่วมชูป้ายคนหนึ่ง คือ เทเรซา บัลแดส (Teresa Valdes- ออกเสียงแบบสเปน) เล่าว่าการกระทำของเธอครั้งนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดในชีวิต

            การออกเสียงประชามติปีค.ศ. 1988 (Plebiscite 1988) เป็นยุทธศาสตร์สูงสุดของการชุมนุม คือ เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่คนที่ถูกปิโนเชตครอบงำและร่วมมือคุมขังและทำให้คนหายตัวไป ตามรัฐธรรมนูญค.ศ. 1980 คนตายได้รับการชดใช้ ผู้รอดตายมีโอกาสออกเสียงลงคะแนนเป็นครั้งแรก การออกเสียงประชามติกำหนดวันที่ 8 ตุลาคม 1988 โดยมีโอกาสลงมติเพียงว่า “ยอม” หรือ “ไม่ยอมรับ” (Yes or No) ให้ปิโนเชต ดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 8 ปี อันตรายและความเป็นไปได้ของการถ่ายโอนอำนาจของการบริหารประเทศหลังจากครองอำนาจสูงสุดนาน 15 ปี ปรากฏแจ่มชัดต่อทุกคนที่อยู่ตรงข้ามกับปิโนเชต การใช้วิธีการชุมนุมแปรเปลี่ยนเป็นการลงทะเบียนออกเสียงประชามติในเดือนตุลาคม เป็นเหมือนการไขว่คว้าหาโอกาสที่จะเรียกร้องสามัญสำนึกของผู้หญิง กลุ่มสตรีเพื่อชีวิต และองค์กรรากหญ้าหลายกลุ่มซึ่งเติบโตขึ้นมาเพื่อให้บริการทางสังคมภายใต้การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ภายใต้อิทธิพลขององค์การสตรี พวกเธอได้จัดการรณรงค์กันเองเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1988 พร้อมๆกับการเข้ามาร่วมประชุมกับนักการเมืองฝ่ายค้านหลายกลุ่ม มีการเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยมีการขึ้นข้อความว่า “อย่าลืมฉัน” (Don’t Forget Me) ในฐานะเพลงสดุดีและใช้ดอกไม้ (Forget me not) เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มสตรีเพื่อชีวิต พยายามกระตุ้นเตือนมหาชนให้คิดถึงบรรดาผู้ที่ถูกขังจนลืมในคุก ถูกทรมานในห้องขัง คนลี้ภัยและคนนิรนาม ป้ายหลายแผ่นเขียนว่า “คนลี้ภัยจะหนีไปไหน” นักโทษการเมือง คนหายสาบสูญ เหยื่อของการโหวตให้แก่การลอบสังหาร (Victims of assassination vote)

           กลุ่มสตรีนักเคลื่อนไหวพยายามชี้ให้เห็นว่าการลงประชามติเป็นเพียงเครื่องมือบังหน้าการประท้วงเมื่อ 29 สิงหาคม 1988 เป็นวันที่รัฐบาลวางแผนประกาศชื่อ ปิโนเชต เป็นผู้รับการออกเสียงลงประชามติ ในวันนั้นเวลาบ่ายสองโมงตรง ผู้หญิงจำนวน 1,000 คนในชุดดำ แบ่งเป็น 42 กลุ่มๆละ 25 คน เดินอย่างเงียบๆกระจายไปตามถนนในกรุงซานดิเอโก พร้อมด้วยแผ่นภาพขนาดเล็กของผู้หายสาบสูญ โดยหวังว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยส่งผลต่อความคิดของชาวชิลีที่ออกมาเดินเล่น และเป็นเวลาที่มีตำรวจน้อยกว่าปกติ ผล คือ ทำให้กลุ่มสตรีเพื่อชีวิตจัดการเคลื่อนไหวได้อย่างเรียบร้อย 10 นาทีต่อมาพวกเธอก็สลายตัวเหลือเพียงภาพโปสเตอร์ติดบนกำแพงข้างถนนเพื่อให้ประชาชนรำลึกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกระทำของรัฐบาลถือเป็นการรณรงค์ครั้งสำคัญที่สุดที่กลุ่มสตรีเพื่อชีวิตจัดขึ้นอย่างเปิดเผยในรอบ 15 ปี

           หลังจากลงประชามติพรรคสายกลางและพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งเริ่มต้นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆได้เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มสตรีเพื่อชีวิตซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงทุกหมู่เหล่าทั้งในชนบทยากจนตลอดถึงนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองหญิงต่างร่วมกันเรียกร้องให้มีการประท้วงต่อผลการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1989 หลังจากที่แยกตัวออกไปเคลื่อนไหวแบบอิสระ แต่ก็น่าสงสัยว่าเหตุใดการเลือกตั้งซึ่งจะจัดขึ้นในค.ศ.1989 จึงไม่มีพวกเขาเข้าร่วมลงสมัครรับเลือกตั้ง

          หลังจากการดำรงตำแหน่งค.ศ. 1990 ประธานาธิบดีพาทริชิโอ เอลวิน ได้ดำเนินรอยตามรัฐบาลในช่วงถ่ายโอนอำนาจทั้งหลาย และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาประวัติศาสตร์ชิลีระหว่างยุคของประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งค.ศ. 1970 และค.ศ. 1989 เพื่อรวบรวมเรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1970 ใน “ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสู่ระบอบประชาธิปไตย” รัฐบาลชิลีพยายามสร้างระบบในการในการสร้างประวัติศาสตร์เพื่อรังสรรค์หนทางสู่ชุมชนประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง

ประเทศที่เคยผ่านประสบการณ์การใช้ความรุนแรงมาต่างก็พยายามจะอธิบายอดีตของตนและหาทางให้กฎหมายกลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งมักจะต้องตอบคำถามคล้ายๆกันว่า มีการทำอะไรผิดกฎหมาย ใครต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรง และความเป็นปฎิปักษ์ขยายวงสู่สงครามกลางเมืองได้หรือไม่ หากเกิดสงครามกลางเมือง พันธสัญญาระหว่างประเทศยังคงมีผลขณะเกิดสงครามหรือไม่ คณะกรรมการเหล่านี้แต่ละคณะต้องรับผิดชอบต่อความบาดหมางในประวัติศาสตร์หรือไม่

คณะกรรมการฝ่ายต่างๆยังต้องเสนอโครงการสำหรับอนาคตให้เกิดความเป็นธรรม ขั้นตอนการปรองดองก็น้อยลงกว่าในช่วงเริ่มต้นของการสมานฉันท์อีกครั้ง คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นมาโดยคำสั่งของประธานาธิบดีพาทริโอ เอลวิน แม้ว่าคณะกรรมการจะประกอบด้วยนักกฎหมายชั้นนำ มีนายราอูล เร็ตทิก (Raul Rettiig) เป็นประธาน รู้จักกันในนามคณะกรรมการเร็ตทิก ดำเนินการแบบเป็นส่วนตัว และไม่มีอำนาจเรียกผู้ต้องหามาให้การและไม่สามารถพิจารณาหลายคดี อาทิ คดีของเนียเวส แอเรสส์ และคนอื่นๆผู้รอดตายจากการทรมานมาได้อย่างมหัศจรรย์

“รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดองแห่งชาติชิลี” มีพื้นฐานจากการรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการตาย และการหายตัวไปของประชาชน จำนวน 3,041 คน โดยไม่ได้ระบุสาเหตุการตายหรือถูกทรมานอย่างไรบ้าง รายงานฉบับนี้มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุมากกว่าจะเป็นหลักการทางประวัติศาสตร์ เพราะแต่ละเหตุการณ์มีการวิเคราะห์น้อยมาก การบรรยายเนื้อหาในรายงานก็มีลักษณะเป็นกิริยาที่ถูกกระทำ (passive voice) มีความตายเป็นประธานโดยไม่กล่าวถึงผู้ทำให้ตาย (ฆาตกร) ราวกับเป็นการตายตามธรรมชาติต่างจากรายงานการสืบสวน

รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดองแห่งแอฟริกาใต้(Truth and Reconciliation Commission of South Africa ,Report) ซึ่งบันทึกทั้งคำให้การของผู้ถูกทรมาน รวมทั้งฆาตกรและผู้ทรมานนักโทษ

ต่างจากฮิตเลอร์และมุสโสลินี ปิโนเชตยังคงเป็นผู้นำกองทัพต่อมาอีก 8 ปี จนถึงค.ศ. 1990 จึงตัดสินใจสละตำแหน่งดังกล่าว เมื่ออายุได้ 83 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม 1988 เขาได้แต่งตั้งตัวเองเป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีพ ทำให้มีการประท้วงตามมาต่อเนื่องจากยุคทศวรรษ 1980s ทำให้มีการแห่รูปขาวดำของผู้ตายและผู้สูญหายไปหน้ารัฐสภาในเดือนมีนาคม 1988 ขณะปิโนเชตกำลังสาบานตนรับตำแหน่งวุฒิสมาชิกเพื่อแปลงโฉมเป็นวีรบุรุษอาวุโส เมื่อปิโนเชตถูกจับที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1978 ตามหมายจับของสเปน ประชาชนชาวชิลีจึงมีทั้งดีใจและโกรธแค้นผสมผสานกัน

สเปนก็มีปัญหาทางประวัติศาสตร์คล้ายกับชิลี ประธานธิบดีฟรังดกตายคาตำแหน่งหลังครองอำนาจ 36 ปี (20 พ.ย. 1975) หากไม่มีการวางระเบิดรถยนต์ของทายาทการเมืองชื่อจอมพลฟรานซิสโก คาเรโร ฟรังโก จาการกระทำของผู้ก่อการร้ายชาวบาธ (Basgue) 5 คน สเปนก็ต้องถูกปกครองโดยระบบฟรังโกต่อมาอีกนาน แม้รัฐธรรมนูญของสเปน ค.ศ.1977 จะทำให้สเปนมีฐานะเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีการเรียกร้องให้สืบสวนความสูญเสีย ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีฟรังโกซึ่งปกครองสเปนมานานเกือบ 40 ปี หนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มกล่าวถึงประชาชนหลายพันคนถูกตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมหลังสงครามกลางเมืองค.ศ.1939 และประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้งหลังการประกาศนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ต้องคดีก่อนค.ศ. 1939

ความสัมพันธ์ระหว่างสเปน ชิลี และอาร์เจนตินาไม่ได้ใกล้ชิดกันมากเมื่อเปรียบกับ สหราชอาณาจักร แคนาดาและสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อชาวสเปนเกือบ 300 คน ถูกลักพาตัว ทรมาน และถูกฆ่าตายในชิลีระหว่างยุคเผด็จการทหารชิลีเรืองอำนาจและยุคสงครามโสมมในอาร์เจนตินา กฎหมายระหว่างประเทศเปิดโอกาสให้สเปนฟ้องร้องปิโนเชต ตามมาด้วยการฟ้องร้องของสวีเดน สวิส ฝรั่งเศสและอิตาลี

      ศาลอเมริกาตัดสินคดีเป็นประเทศแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1946 บนพื้นฐานของคำตัดสินคดีของคณะผู้พิพากษาแห่งนูเรมเบิร์กในข้อหา “กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ซึ่งระบุว่าไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐที่ก่ออาชญากรรมรัฐใดสามารถลบล้างความผิดในคดีข้างต้นนี้ได้

        การฟ้องร้องของสเปนคำนึงถึงอนุสัญญาต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ.1948 (the 1948 Convention against Genocide) ซึ่งเคยใช้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติที่มีอดอล์ฟ ไอค์มาน (Adolf Eichman) เป็นจำเลย รวมถึงอ้างอิงบทบัญญัติในศาลพิเศษนานาชาติที่กรุงเฮก (the international Tribunals at the Hague ) ซึ่งถูกนำไปใช้ในการตัดสินคดีอาชญากรรมในอดีตประเทศยูโกสลาเวียและระวันดา และในที่สุดคำร้องดังกล่าวของสเปนก็ใช้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานค.ศ. 1984 ปัจจัยสนับสนุนการฟ้องร้องคดีดังกล่าวของสเปน คือ ระบบกฎหมายที่อนุญาตให้พลเมืองชาวสเปนแสดง “ปฏิกิริยาของปวงชน – Popular Action” หน้าสาขาของศาลพิจารณาคดีพิเศษ (Special Judicial Branch) หรือศาลสูงสุดแห่งชาติ (National Court) จากการสนับสนุนของชาวชิลีลี้ภัย และอดีตที่ปรึกษาของซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) ซึ่งเกิดในสเปน คือ ฮวน กาแซส (Joan Garces ) ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิซัลวาดอร์ อาเยนเด ในมาดริด ส่งผลให้ผู้พิพากษาของสเปน คือ บัลชาซาร์ กายซอน (Balthasar Garzon) และมานูเอล การ์เซีย คาสเตลโลน (Manuel Garcia Casteiion) เริ่มต้นการสอบสวนระหว่างมีนาคม-กรกฎาคม ค.ศ.1996 คำให้การของพยานชาวชิลีที่รอดตายกระตุ้นให้ผู้พิพากษาหาทางใช้อำนาจทางกฎหมายในการพิจารณาอาชญากรรมที่ปิโนเชตก่อขึ้น ในคำฟ้องของรัฐบาลสเปนระบุถึงข้อหาการฆาตกรรมชาวสเปนเป็นข้อหาที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และข้อหาการก่อการร้ายต่อพลเมืองของชาติตน ท่ามกลางคำฟ้องร้องและข้อหาต่างๆแล้วยังมีคำร้องของนางสาวเนียเวส แอเรสส์ด้วย หลักฐานสำคัญที่รัฐบาลสเปนใช้ในการฟ้องร้องปิโนเชตก็คือ รายงานของคณะกรรมการเร็ตทิก ค.ศ.1990 ซึ่งทำให้ผู้รอดชีวิตและผู้ตายสามารถ “พูดได้”

         ไม่ว่าปิโนเชตจะยืนกรานต่อสู้คดีกับการฟ้องร้องข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างไร แต่กระบวนการบอกความจริงก็ได้ เริ่มต้นท่ามกลางสายตาของชาวชิลี และขยายต่อไปยังโลกกว้างด้วย กระนั้นการให้อภัยและการปรองดองก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในชิลี เนื่องจากทั้งปิโนเชต บรรดานายพลผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา หรือแม้แต่บรรดานายทหารจำนวน 500 คน ที่ยังคงมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ยังมีส่วนในการทำงานที่ค่ายกักกันและการทรมานมิได้ยอมรับว่าพวกเขาได้ร่วมกันก่ออาชญากรรม มีการดำเนินคดีข้อหาใช้ความรุนแรงระหว่างรัฐบาลปิโนเชตเพียงคดีเดียวเท่านั้น พลเอกมานูเอล คอนเตรราสโต้แย้งว่าตนเองบริสุทธิ์จากคดีฆาตกรรมในฐานะที่เป็นหัวหน้าของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (DINA) ระหว่างถูกดำเนินคดีที่กรุงวอชิงตันดีซี โดยการฟ้องร้องกล่าวโทษของ รอนนี มอฟฟิต (Ronnie Moffit) ออร์ลันโด เลตเตลเลอร์ ( Orlando Letteller) เลตเตลเลอร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลของซัลวาดอร์ อาเยนเด เขาเคยถูกจับขังในค่ายกักกันในชิลีหลังการรัฐประหาร 1973 เมื่อถูกตัดสินจากนานาชาติทำให้เลตเตลเลอร์ได้รับอิสรภาพและลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา และเขากลายเป็นนักวิจารณ์รัฐบาลปิโนเชตคนสำคัญ วิถีการเป็นนักคิดฝ่ายซ้ายในวอชิงตันดีซี ทำให้รถยนต์ของเขาถูกลอบวางระเบิดในย่านสถานทูตห่างจากทำเนียบขาว 10 คูหา รัฐบาลอเมริกันคาดเดาว่าการดำเนินคดีในชิลีคงไม่ก้าวหน้า จึงจับไมเคิล ทาวน์ลีย์ (Michael Townley) ผู้แทนของรัฐบาลชิลีในอเมริกาขึ้นดำเนินคดีในยุค 70s ทาวน์ลีย์อ้างว่าเขาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของพลเอกมานูเอล คอนเตรราส ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติชิลี (CIA ของชิลี) จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้เองที่คอนเตรราสซึ่งถูกนำตัวไปดำเนินคดีในวอชิงตันได้ระบุว่าเขายังคงบริสุทธิ์ในคดีอาชญากรรม โดยปิโนเชตเป็นผู้ออกคำสั่งให้ลอบสังหารเลตเตลโลและเป็นผู้ควบคุมสำนักข่าวกรองชิลี สำนักข่าวกรองแห่งชาติชิลีมีบทบาทในการลักพาตัว ทรมานและลอบสังหารนักการเมืองที่ลี้ภัยในอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี ปรากวัย และอุรุกวัย ภายใต้ปฏิบัติการคอนดอร์ (The Operation Condor) ถูกระบุอยู่ในข้อกล่าวหาปิโนเชตของรัฐบาลสเปน ตามกฎหมายเกี่ยวกับการปล้นสะดม (the laws of piracy) ซึ่งนักกฎหมายทางด้านสิทธิสตรี รอนดา โคปลัน ( Ronda Kopelan) ใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำทารุณกรรมจากปรากวัยก็ถูกนำมาใช้ในนิวยอร์กด้วย ยิ่งนับวันการใช้กฎหมายข้ามพรมแดนต่างประเทศยิ่งถูกใช้มากขึ้นกับการใช้อำนาจรัฐที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และอาชญากรรมอื่นๆ อาทิ อาชญากรรมลงทัณฑ์ทรมานต่อมนุษยชาติ

          จากการที่ปิโนเชตไม่เคยยอมรับผิดต่อสาธารณชนถึงการทำรัฐประหาร ต่อการจับคนไปทรมาน และการจัดตั้งปฏิบัติการคอนดอร์ ก็ถือเป็นการก่ออาชญากรรมเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อปิโนเชตถูกจับในลอนดอน ตามคำร้องของสเปน ทำให้เขาต้องเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต้องถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้ายและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ต่อมาบุตรชายของปิโนเชตได้ร้องเรียนว่าบิดาของตนกำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งๆที่อดีตจอมเผด็จการผู้นี้และบริวารของเขาไม่เคยมีชื่อว่า เป็นผู้ตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย การประเมินประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปในอดีตและการนำตัวผู้รับผิดชอบในการกระทำอย่างป่าเถื่อนมาเผชิญหน้ากับผู้กล่าวหา ให้แสดงความเสียใจในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปและร้องขอให้อภัยดูเหมือนจะเป็นอีกทางหนึ่งในการแก้ไขสายใยทางประวัติศาสตร์ ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt ) กล่าวว่า “จำเลยถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะการกระทำของเขาทำลายและเป็นอันตรายชุมชนทั้งมวลอย่างแท้จริง ดังนั้นโครงสร้างทางการเมืองจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และสถานะความเป็นพลเมืองซึ่งถูกละทิ้งไปนั้นจะต้องได้รับการฟื้นฟูบูรณะ แต่ในฐานะของนักวิเคราะห์ทางจิตเวช จูดิธ เลวิส (Judith Lewisherman ) เธอเสนอว่า ทางเลือกในการจัดการกับความเลวร้ายในอดีต ขึ้นอยู่กับผู้รอดชีวิต” และพวกเขาเท่านั้นที่จะเป็นผู้บูรณะอดีตให้เกิดความต่อเนื่อง ชาวชิลีจะมีทางเลือกอะไรเหลืออยู่เมื่อรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต่อจากปิโนเชตนั้นก็อ่อนแอ

          แม้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัยที่นายพลออกุสโต ปิโนเชต ปกครองประเทศชิลีจะเกิดขึ้นเมื่อ 38 ปีก่อนแต่ล่าสุดทางการชิลี เพิ่งเปิดเผยรายงานฉบับใหม่ ที่พบว่า มีชาวชิลีกว่า 40,000 คนเสียชีวิตในยุคสมัยนั้น จากตัวเลขเดิมที่บันทึกไว้เพียงแค่ประมาณ 2,000 รายเท่านั้น

          ทางการชิลียอมรับว่ายอดผู้เสียชีวิตในสมัยที่นายพลออกุสโต ปิโนเชต เรืองอำนาจ หลังก่อการรัฐประหารในปี 2516 อาจมีมากถึง 40,000 ราย จากที่รัฐบาลเคยบันทึกไว้ในอดีต 2,279 ราย โดยคณะกรรมาธิการแห่งชาติ ที่รับผิดชอบเรื่องนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมและถูกทำร้ายร่างกายของชิลี หรือวาเลช ที่นำโดยอดีตประธานาธิบดีชิลีริคาร์โด ลากอส ได้เริ่มค้นหาความจริง และตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2547 ก่อนสรุปผลออกมาเป็นรายงานฉบับล่าสุด และนำเสนอต่อประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
(คริสเตียน ปิเญร่า )






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน

ความรักชาติ