ความรักชาติ

ชื่อภาพ "รักชาติยอมสละแม้นชีวี"
ขอขอบคุณ ภาพที่ชนะการประกวดในวันแห่งความรัก จากคุณชัยรัตน์  ตันติไพบูลย์วุฒิ


ทุกท่านคงจะทราบกันดีว่า เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก เหตุนี้จึงอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทบทวนเกี่ยวกับเรื่องของความรักอันยิ่งใหญ่ คือ เรื่อง “ความรักชาติ” ดังเนื้อเพลงปลุกใจเหล่าทหารรั้วของชาติตอนหนึ่งว่า “ความรักอันใด แม้รักเท่าไหน ยังไม่ยั่งยืน เช่นรักคู่รักแม้รักดังกลืน ยังอาจขมขื่นขึ้นได้ภายหลัง  แต่ความรักชาติ รักแสนพิศวาส รักสุดกำลัง ก่อเกิดมานะ ยอมสละชีวัง รักจนกระทั่งหมดเลือดเนื้อเรา...”[1]
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามคำว่า “ชาติ”     หมายถึง  ปรชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ  ศาสนา  ภาษา  ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา  ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน  หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน [2]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความหมายของคำว่าชาติ ว่า
“คำว่าชาตินี้แต่เดิม แปลว่า ตระกูลฤาประเภทแห่งบุคคล... “ชาติ” ก็แปลตรงๆว่ากำเนิดเท่านั้น...ต่อมาภายหลังเราจึงมาใช้เรียกคณะชนที่อยู่รวมกันว่า “ชาติ” ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ผิดเพราะคน “ชาติไทย” คือ เกิดมาเป็นไทย เกิดมาในหมู่ชนที่เรียกนามตนว่า ไทย” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า “ที่เรียกว่าชาติของเรา  เพราะเราเกิดมาเป็นคนไทย เป็นพวกเดียวกัน เป็นชาติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน”[3]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงให้ความหมายของ คนดีของชาติบ้านเมือง ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงสอนพระองค์เจ้าจิระศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมว่า
“คนดี คือ การรู้จักบุญคุณคน  ความไม่เห็นแก่ตัว  ไม่เอาเปรียบเพื่อน ไม่สำรวย ไม่อวดเก่ง และไม่อิจฉาริษยา เป็นต้น  ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง”
หลวงวิจิตรวาทการได้แบ่งความคิดชาตินิยมออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ชาตินิยมในบทความทางการเมือง เช่น บทความเรื่อง การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ( ๒๔๗๕ )ความคิดชาตินิยมในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ เช่น หนังสือเรื่อง สยามกับสุวรรณภูมิ (๒๔๗๖)  และความคิดชาตินิยมในงานบทละครและนวนิยาย  เช่น เลือดสุพรรณ (๒๔๗๙) เป็นต้น โดยมีความมุ่งหมายให้ผู้อ่านเกิดความรักชาติ
ขุนวิจิตรมาตรา เป็นนักเขียนแนวลัทธิชาตินิยมผู้ประพันธ์หนังสือ หลักไทย  เข้าประกวดชิงรางวัลของราชบัณฑิตยสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  นอกจากนี้ยังเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง รบระหว่างรัก (๒๔๗๒) เลือดทหารไทย(๒๔๗๗) รวมทั้งเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติ (๒๔๗๕) ฯลฯ
ขุนจิตรมาตราให้ความหมายของ “ชาติ” ว่าหมายถึง  มนุษย์ที่รวมตัวเป็นเผ่าเดียวกัน มีการตั้งบ้านเมืองและประเทศ  โดยมีหัวหน้า หรือ  ประมุข  และที่สำคัญ คือ “คนที่รวมกันอยู่ได้ก็ต้องถือขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน [4]
พระยาธรรมศาสตร์นาถประนัย (จุ้ย สุวรรณทัต) ให้โอวาทบุตรหลานของท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ชาตินั้นเป็นนามสมมติ คือ อาศัยเหตุที่บุคคลเกิดมาร่วมเมืองร่วมประเทศมากมาย จึงให้นามสมมุติว่า บุคคลที่เกิดร่วมเมืองร่วมประเทศสืบต่อกันมาทั้งนี้ว่า “เป็นชาติ” คือ รวมเป็นเครื่องหมายว่า ชาติไทย หรือ ญวน เขมร  ...ก่อนที่จะพูดว่ารักชาติ จะต้องพลีชีวิตทดแทนพระคุณก่อนเป็นที่หนึ่ง พลีให้ชาติเป็นที่สอง...” [5] ในโอวาทของท่านยังกล่าวสอนลูกหลานว่า พระมหากษัตริย์ คือ พระผู้มีพระคุณสูงสุด
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นักรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยศึกษาเกี่ยวกับ“พลังของแนวคิดชาติ–ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ[6] และนำเสนอบทความนี้ในที่สัมมนาวิชาการ เรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย”จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒  อธิบายสรุปว่าการศึกษาคำว่า “ชาติ” ในความหมายของการเมืองแบบใหม่ คือ ชาติแปลว่า “ประชาชน” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเป็นการยกระดับเพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองแม้จะไม่ใช่ในเชิงเศรษฐกิจก็ตาม ในขณะเดียวกันลัทธิชาตินิยมของรัฐประชาชาติไทยในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๗๐ เป็นผลสืบเนื่องสำคัญมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชน ทั้งทางปัญญาชนที่มีชื่อเสียงและนิรนาม รวมทั้งการก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎร ขณะที่แนวความคิดและเข้าใจใน“ชาติ” (patriotism) ซึ่งเป็นความรักชาติในคติของความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวม (altruism) ซึ่งตรงกันข้ามกับความรักชาติชนิดเห็นแก่ตัว  (egoism) และเห็นแก่เชื้อชาติ (race) ของตนเป็นใหญ่ ซึ่งทั้งสองแนวนี้จะยังคงมีอยู่ผสมผสานในสังคมไทยตราบจนถึงปัจจุบัน
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักรัฐศาสตร์และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง [7] สรุปถึงกระบวนการปลูกฝังความเป็นชาติว่า มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ

๑)    การสร้างสัญลักษณ์ร่วมกัน เป็นขั้นตอนแรกในการสร้าง “ความเป็นพวกเดียวกัน”

๒)    การมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน เปรียบเสมือนการมีบรรพบุรุษร่วมกันของผู้คนที่อยู่รวมในชาติเดียวกัน
            ด้วยเหตุที่ ชาติ ถือเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองของหมู่ชนที่ถือว่า พวกตนเป็นพวกเดียวกัน มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน  จึงควรอย่างยิ่งที่จะมี “รัฐ” (State) เดียวกัน เรียกว่า รัฐชาติ” (Nation –State) เพื่อที่จะทำให้หมู่คณะของตนสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ และเป็นอิสระปลอดจากการครอบอำนาจ หรือ การแทรกแซงจากหมู่ชนอื่น[8]
             “ชาติ” และ “ความรักชาติ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชน  ดังนั้น เมื่อคนไทยทั้งชาติยึดถือแนวคิดในเรื่องนี้ตรงกันมาช้านานดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะหาเหตุผลใดๆ มาบั่นทอนความรักและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมไทยให้อ่อนแอลง

           





[1]  เพลงรักชาติ คำร้องโดย พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง เจ้าหญิงแสนหวี แต่งเมื่อปีพ.ศ.2481.
[2] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542,กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.  หน้า 359.
[3] พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ระบาทสมเด็จ. ปลุกใจเสือป่า.พ.ศ.๒๔๕๗.  พระนคร : คุรุสภา, 2499.
[4] ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) หลักไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,2471.
[5] พระยาธรรมศาสตร์นาถประนัย. “โอวาทพระยาธรรมศาสตร์นาถประนัย พ.ศ. 2476 ในประวัติต้นสกุลสุวรรณทัต และญาติ รวบรวมโดย พ.ต.อ.สุทัศน์ สุวรรณทัต โรงพิมพ์กิตติวรรณ,2519.
[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.  “พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยม กับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ” ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่21ฉบับที่ 3( 2542 )
[7] หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ม.ป.ป.
[8] สมเกียรติ วันทะนะ อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย กรุงเทพ :  อักษรข้าวสวย , 2551, 117.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน