มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

บทคัดย่อ


     ชุมชนตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้อาศัยในอาคารตึกแถวร้านค้า และบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองฟากถนนนครสวรรค์และปริมณฑลใกล้เคียง จำนวน 235 หลังคาเรือน ประชากร 1,250 คนตามแนวถนนและปริมณฑลประกอบอาชีพหลากหลาย ชุมชนตลาดนางเลิ้งมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทำให้เป็นที่ตั้งของวัดและวังจำนวนไม่น้อย ชุมชนแห่งนี้เคยมีความเจริญสูงสุดในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษม การปิดตัวของโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ.2536 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนนางเลิ้งซบเซา การจัดงานฉลองตลาดนางเลิ้งอายุครบ 100 ปี เมื่อปีพ.ศ.2543 และการปรับปรุงให้ตลาดนางเลิ้งมีลักษณะเป็นตลาดสดย้อนยุค ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและทำให้ชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งตระหนักถึงคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมในฐานะกลไกในการสร้างความเป็นพลเมืองของตน พวกเขาจึงพยายามเรียกร้องหาพื้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนและเป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจของชุมชน โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีเป็นคำตอบข้างต้น การตอบรับจากทั้งนักท่องเที่ยวและนักกิจกรรมทางสังคม จุดประกายให้สมาชิกชุมชนตลาดนางเลิ้งที่เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ริเริ่มถ่ายทอดปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่ลูกหลานของตนมาตั้งแต่บัดนั้น

ความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้รับการปฏิบัติดีขึ้นในฐานะ “พลเมือง” ของกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง หลังจากแต่เดิมนั้นพวกเขาถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

(คำสำคัญ: ชุมชนตลาดนางเลิ้ง มรดกวัฒนธรรม พลเมือง กรุงเทพมหานคร สถาบันพระปกเกล้า)

__________________________________________________________________________

อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า



Cultural Heritage: Mechanic to Cultivate the Citizenship at Nang-leung Market Place Community.

Chatbongkoch Sriwattanasarn,

Lecturer of King Prajadhipok Museum

King Prajadhipok Institute

Abstract

The Community of Nang - leung Market Place, Pomprarp Satru-pai District, Bangkok, composes with the people who live in 235 houses (1,250 peoples) of both high stories shop house and semi-wooden brick-houses along Nakorn-sawan Road and the circumference. The community has a long interesting development since the early Rattanakosin period, so, the area is conglomerated with temples and palaces. The community used to have its most prosperous history in the reign of King Mongkut (Rama IV) as the center of business after the construction of Klong Phadung Krung-Kasem Canal. The closing of Chalerm Thani Movie Theatre in 1993 was one of the most important condition effected to the business circle of the community. The celebration of the market place of Nang-leung centennial in the year 2000, and the renovation of the market to be the old fashion market place has encouraged the Community -based Tourism right here too. This phenomenon has caused the members of the community recognize the values of its own cultural heritage as the mechanic to cultivate the citizenship. Trying to acquire the cultural space for their children, the Chalerm Thani Movie theatre, is the most proper building to be their spiritual symbol. The well welcome from tourists and social activists, ignites part of community’s members from semi-wooden bricked houses teach their children about the values of cultural heritage in their own community as the mechanic to cultivate the citizenship idea.

Result of the procedure is able to develop the image of the community of semi-wooden bricked houses in the view of high rank officials as the Citizen in stead of the second class people as ever.

(Keywords: Nang-leung Market Place, cultural heritage, citizen Bangkok metropolitan, King Prajadhipok Institute)

สมมติฐาน

ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงจะเกิดได้ในสังคมที่มีชุมชนขนาดเล็กและสมาชิกของชุมชนมีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน สมาชิกชุมชนจำเป็นต้องอยู่กันแบบมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การเมืองในชุมชนขนาดเล็กจะตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในชุมชนเพื่อความอยู่รอด แต่การเมืองระดับชาติคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ชาวชุมชนนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางด้านวัฒนธรรมมาใช้ในการหล่อหลอมความเข้มแข็งและพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตด้านต่างๆของชุมชนอีกครั้ง และกลายเป็นแบบอย่างของการสร้างความเป็นพลเมือง(Citizen)

ทบทวนวรรณกรรม

-ศาสตราจารย์ดร.ปิยนาค บุนนาค บทความวิชาการเรื่อง “พลเมือง” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ สร้างคน สร้างชาติ : พระราชดำริสืบเนื่องสี่รัชกาล (กรุงเทพฯ : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2547) กล่าวถึง ความเป็นพลเมืองภายใต้พระบรมโพธิสมภารสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงดำเนินการ “สร้างคน” สืบเนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเปลี่ยนสถานภาพของราษฎรสยามจากการเป็นไพร่และทาสให้เป็น “พลเมือง” ของประเทศสยามตามแบบอารยประเทศ โดยการยกเลิกระบบไพร่ ทาส การให้การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การอำนวยความสะดวกสบายและรวดเร็วด้านการคมนาคม การสื่อสาร การให้ความยุติธรรมและการให้มีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นนำไปสู่การสร้างคน และสร้างชาติ

-ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในบทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” กล่าวถึงความมุ่งหวังต่อสวัสดิภาพ และสวัสดิการที่บุคคลพึงใฝ่ฝันจะได้รับจากครอบครัวและรัฐบาลตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบโตมาเป็นเยาวชน มีพี่น้อง ได้รับการศึกษา มีสัมมาชีพ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายบ้านเมือง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีจนกระทั่งลาจากโลกนี้ไปในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่งให้แก่รัฐบาล อันสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่บุคคลควรจะได้รับจากรัฐบาลในสังคมอุดมคติ

“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมเองไม่ได้ หรือได้แต่ของไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ...”

- ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปาฐกถาเนื่องในพิธีลงนามตามโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วันอังคารที่ 12 เมษายน 2554 กล่าวถึงการนำแนวความคิดเรื่อง “ความเป็นพลเมือง” ในการสร้างประชาธิปไตยชุมชน หรือ สำนึกพลเมือง โดยสภาพัฒนาการเมืองต้องการทำให้คนในชุมชน หมู่บ้าน ตำบลทั้งหลายมีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง( Active Citizen ) คือ เปลี่ยนจากราษฎรที่คอยฟังคำสั่งของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ เป็นพลเมืองที่ร่วมกันดูแลปัญหาของชุมชน ถกเถียงปรึกษาหารือกันแล้วจึงขอให้องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล จังหวัดบรรจุปัญหาในแผนพัฒนา ความเป็นพลเมืองจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น เมื่อราษฎรพ้นจากความเป็นราษฎรสู่ความเป็นพลเมือง ชุมชนก็จะมีความเข้มแข็งในทางการเมือง สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ถูกชักจูงด้วยเงินค่าจ้างเพียงไม่กี่บาท เมื่อพลเมืองมีความเข้มแข็งก็จะเห็นเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องของตน และเป็นเครื่องดุลและคานไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง และพลเมืองจะมีความสามารถในการดุลและคานกับอำนาจทุนในบ้านเมืองได้ด้วย ถ้าประชาชนมีความเป็นพลเมืองกันมากๆ ก็ชักจูงได้ยาก ไม่ว่าจะโดยอามิสสินจ้าง และการซื้อเสียงขายเสียงทางการเมืองก็จะลดลง

-ศาสตราจารย์อลัน วอล์คเกอร์ (Professor Alan Walker) ศาสตราจารย์ทางด้านนโยบายสังคม(Social Policy)และชราภววิทยาสังคม(Social Gerontology) แห่งภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์(Sheffield University) ประเทศอังกฤษ ผู้อำนวยการโครงการวิจัย พัฒนาการของวัยและอนาคตแห่งภูมิภาคยุโรป (The European Research Area in Ageing and the FUTURAGE Project) การอธิบายเรื่องคุณภาพสังคมของ อลัน วอล์คเกอร์ ประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับ Social exclusion คือ การถูกกีดกันออกจากสิทธิ โอกาสและทรัพยากรจากสังคม และSocial inclusion คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมอันจะนำไปสู่สภาวะของการกีดกันทางสังคม สนใจ เรื่อง ความสมานฉันท์และการขาดมาตรฐานทางสังคม(Social cohesion/Social anomie) ความมั่นคงและไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ(Socio-economic Security/ Insecurity) และประเด็นเกี่ยวกับการให้อำนาจแก่สังคมและลำดับชั้นทางสังคม(Social empowerment/ Social subordination) ด้วยงานวิจัยของศาสตราจารย์ อลัน วอล์คเกอร์ ครอบคลุมขอบเขตของผลกระทบที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานวัยต่างๆ(Ageing workforces) ความแตกต่างทางด้านวัยในตลาดแรงงาน (Age discrimination) นโยบายของตลาดแรงงานที่มีต่อคนสูงวัย การตอบสนองของนายจ้างที่มีต่อแรงงานวัยต่างๆและการปฏิบัติที่ดีต่อการจ้างแรงงานสูงวัย

งานวิจัยส่วนหนึ่งของเขามุ่งอธิบายเกี่ยวกับการถูกกีดกันออกจากสิทธิโอกาสและทรัพยากรของสังคม(Social exclusion) และกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมอันจะนำไปสู่สภาวะของการกีดกันทางสังคม(Social inclusion) วอล์คเกอร์ สนใจเรื่องความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม(Poverty and Inequality) มายาวนาน จากนั้นจึงหล่อหลอม(Amalgamated)มาเป็นการวิจัยเรื่องคุณภาพของสังคมในเวลาต่อมา งานวิจัยนี้เน้นขนาดของการกีดกันทางสังคม ระดับของการกีดกันและผลกระทบที่เกิดขึ้น ความหมายของความยากจน และชีวิตของผู้ที่สัมผัสกับความยากจนทั้งในยุโรปและพื้นที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างพลังทางสังคม(Social Empowerment) ของศาสตราจารารย์ อลัน วอล์คเกอร์ ให้ความสนใจเรื่องคุณภาพสังคมและประเด็นของชราภวสังคม รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างพลังทางสังคมและกลไกหลายอย่างซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและร่วมทำวิจัย

การอธิบายประเด็นเกี่ยวกับชราภววิทยาสังคม(Social Gerontology) ของศาสตราจารย์อลัน วอล์คเกอร์ ครอบคลุมขอบเขตอันกว้างขวางของแนวคิดในการศึกษาโครงสร้างทางสังคมของคนวัยชรา(The social construction of old age) ความสัมพันธ์ระหว่างวัยกับนโยบายสังคมและสวัสดิการ( Relationship between Ageing and Welfare/ Social Policy) รวมถึงงานวิจัยเชิงเข้าร่วมสังเกตการณ์(Empirical Research) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมของคนวัยชรา เจตนคติที่มีต่อคนวัยต่างๆและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของคนวัยชรา(Attitudes towards ageing and socio-economic security in old age) การประเมินนโยบายเกี่ยวกับบำนาญและการดูแลระยะยาว (Policy evaluations in the areas of pensions and long term care) และการเปรียบเทียบผลกระทบทางสังคมที่มีต่อช่วงวัยต่างๆ(comparative research on the impact of societal ageing ) ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออก และการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเมืองเรื่องชราภาวะ (the politics of old age)

-อานันท์ ปันยารชุน บทความเรื่อง “ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” กล่าวถึง ความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เขายกข้อสังเกตของศาสตราจารย์ อมรรตยะ กุมาร เสน (Amartya Kumar Sen ) ผู้เสนอวิธีการมองปัญหา และแก้ปัญหาความอับจนที่ครอบคลุม โดยเสนอว่าการมีรายได้เพิ่มเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ของการแก้ปัญหาความยากจน ที่สำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยสร้างความสามารถให้แก่ผู้คนโดยตรง เพื่อให้เขามีเสรีภาพที่จะเลือกชีวิตที่เขาต้องการและยังกล่าวเกี่ยวกับผลดีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า “ไม่เคยมีทุพภิกขภัยร้ายแรงเกิดขึ้นในประเทศใดที่เป็นเอกราช มีประชาธิปไตยและมีสื่อที่ค่อนข้างเสรี” อานันท์ ปันยารชุน อ้างคำกล่าวของอริสโตเติล (Aristotle)ว่า “หากมีเสรีภาพและความเท่าเทียม ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลมากที่สุด” และตามกรอบคิดของมหาตมะ คานธี (Gandhi)ว่า “วิญญาณของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยัดเยียดจากภายนอกได้ ประชาธิปไตยต้องมาจากข้างในเท่านั้น” นอกจากนี้ยังอ้าง วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Cherchill) เมื่อกล่าวเปรียบเทียบถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่า “ไม่มีใครเสแสร้งว่า ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มีผู้กล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวที่สุด ถ้าไม่นับระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ถูกนํามาใช้บ้างเป็นครั้งคราว” แนวคิดเกี่ยวกับเสาหลักของประชาธิปไตย 7 ประการ ของอานันท์ ปันยารชุน ได้แก่ การเลือกตั้ง ขันติธรรมทางการเมือง การปกครองด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอํานาจ และประชาสังคม ภาวะผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสาหลักประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ความเป็นผู้นําประกอบด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใสและรับผิดชอบในสิ่งที่ทํา เป็นบุคคลที่สามารถสร้างฉันทามติ มีใจที่เปิดกว้าง ยึดมั่นความยุติธรรม ส่งเสริมประโยชน์สาธารณะ มีขันติธรรมและรับฟังท่าทีของฝ่ายตรงข้าม

ศิลปวัฒนธรรม : รากฐานความเข้มแข็งของพลเมือง

     ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีด้านต่างๆ เป็นพฤติกรรมของคนที่สั่งสม ถ่ายทอดและดำเนินไปในชีวิตประจำวันสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างก็ยังคง “มีชีวิต” อยู่ เช่น วัฒนธรรมทางภาษาพูดและภาษาเขียน วัฒนธรรมการไหว้ ฯลฯ ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างก็สูญหายไปแล้วหรือกำลังจะสูญหายไป เช่น การนุ่งโจงกระเบน การเคี้ยวหมาก เป็นต้น

     ศิลปะ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art) ไว้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์สร้างสร้างขึ้นทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพพิมพ์ งานปั้น งานแกะสลัก เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เครื่องใช้สอย ตลอดจนถึงอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกัน ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะ ทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงาม เลิศหรูอลังการ หรือน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็น งานศิลปะ

     วัฒนธรรมเป็นความเจริญงอกงามของมวลมนุษย์ที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ความคิด ความรู้สึก และความเชื่อ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรม โดยเห็นได้จากพฤติกรรมในสังคมและวิถีชีวิตประจำวัน รวมทั้งผลที่เกิดจากกิจกรรม หรือ ผลผลิตกิจกรรมของมนุษย์

-ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี อธิบายว่า วัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง วัฒนธรรมชุมชนและท้องถิ่นจึงมีความหลากหลายหลาย ในชุมชนและท้องถิ่นมีปัจจัย หรือ ทุนชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น ทุนทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม หรือ การอยู่ร่วมกัน ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทาง ศาสนธรรม เป็นต้น ทุนชีวิตเหล่านี้ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสมดุล หรือ มีดุลยภาพ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติ มีการดำรงชีวิต กิน อยู่ แต่งกายที่สอดคล้องกับธรรมชาติ มีจารีตขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เอื้ออาทรต่อกัน เคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดสันติภาพในชุมชน รวมถึงมีการสั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ อาทิ การรักษาป่าและต้นน้ำลำธาร ซึ่งเรียกว่าวัฒนธรรม

      วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมวิถีชีวิตทั้งมวล วัฒนธรรมอาจจำแนกเป็นวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ(Material culture) และวัฒนธรรมทางความคิด (Non- material culture) โดยอาจแยกย่อยเป็นวัฒนธรรมการเมือง วัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมทางภาษา วัฒนธรรมราชการ วัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมองค์การ ฯลฯ

-ศาสตราจารย์ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำกัดการเมืองให้เป็นพื้นที่ของชนชั้นนำ (elite) เท่านั้น เพราะการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรเป็นเทคนิคชั้นสูง ซึ่งต้องการคนมีความรู้พิเศษในการจัดสรรแบ่งปัน ไม่ใช่เรื่องที่ “พลเมือง” ทุกคนพึงเข้ามาร่วมตัดสินใจด้วยได้ (หมายถึงความรู้จากตะวันตก) ถูกใช้เป็นฐานความชอบธรรมในการสถาปนาตนเป็นกลุ่มผู้นำและชนชั้นนำมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเองก็มีฐานความชอบธรรมจากการผูกขาดหรือครอบครองความรู้ดังกล่าว ทัศนคตินี้เป็นมรดกตกทอดมายังชนชั้นกลางในระบบราชการซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 และดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงมาจนถึงพ.ศ. 2490 เป็นการส่งมรดกนี้สืบทอดมาแก่สังคมไทยปัจจุบัน แม้ว่าความรุนแรงไม่ใช่เครื่องมือที่เด่นที่สุดในวัฒนธรรมการเมืองไทยโบราณ โดยเฉพาะในหมู่ไพร่ฟ้าประชาชน มีเครื่องมือทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่ชาวบ้านใช้ระงับความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร เช่น การสู่ขวัญ การใช้แรงบีบจากผู้อาวุโส การทำให้ “เสียหน้า” เป็นต้น อานุภาพของรัฐแบบใหม่ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีแต่เดิมมาขาดตอนลง เกิดการสั่งสมสืบทอดและขยายวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบใหม่ผ่านการศึกษา สื่อ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนในด้านอื่นๆสืบมา จนกระทั่งเป็นกระแสหลักของวัฒนธรรมทางการเมืองในทุกวันนี้ แม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ตาม

การใช้ศิลปวัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนระดับนานาชาติ

     ในระดับนานาชาติมีการนำเอาศิลปวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในฐานะแหล่งอาศัยของพลเมือง ศาสตราจารย์ จิออจินา บูตินา วัตสัน (Prof. Geogina Butina Watson) แห่งมหาวิทยาลัย Oxford Brookes ระบุว่า การพัฒนาทำให้มีการบริโภคทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อชุมชนจึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ผลกระทบทางด้านบวก คือ เกิดแหล่งรายได้ที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน ในฐานะผู้จัดการวัฒนธรรม “Cultural Manager” ผลกระทบด้านลบ คือ มรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมอาจถูกคุกคาม ดังที่เกิดขึ้นในเปรูซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยือน จนเกิดความล่อแหลมต่อการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงมีการจัดการชุมชนเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้โบราณสถานร่วมกับชุมชนด้วยดี

     การกินอยู่จับจ่ายใช้สอยเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรม ในอังกฤษจึงมีการจัดตลาดเพื่อให้มีกิจกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในสวนสาธารณะ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและการท่องเที่ยว ในโปรตุเกสระหว่างทศวรรษ 1970 มีการจัดกิจกรรมและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานประวัติศาสตร์ (Historic Parks) ของเมืองต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การเต้นรำพื้นเมือง เป็นต้น โดยไม่ลืมการพัฒนาวิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยในชุมชนควบคู่กันไป อาทิ การจัดองค์กร จัดการพื้นที่ สภาพแวดล้อม ระเบียบ กฎเกณฑ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุน และศูนย์ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม

     กรณีของเมืองโบโกตา (Bogota) ประเทศโคลัมเบียซึ่งได้จัดการกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับการแบ่งพื้นที่ดำเนินธุรกิจเพื่อชุมชนและฟื้นฟูพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

     ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองบอสตัน(Boston)มีลักษณะเป็นชุมชนแบบผสมผสานหลายเชื้อชาติ เช่น อิตาเลียน ยุโรปตะวันออก และอื่น ๆ การจัดการกับกลุ่มสังคมในชุมชน (Community Group) และวิถีชีวิตชุมชน (Community life) จึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ในปีค.ศ. 1956 มีการสร้างทางด่วน (Motor Way)ขึ้นในเมือง ส่งผลให้มีการแบ่งแยกพื้นที่ในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ กลุ่มสถานที่ทำงาน เช่น บริษัท ห้างร้าน สถาบันและองค์กรตั้งอยู่ในเขตเมือง แต่ชุมชนกลับตั้งอยู่นอกเมือง ทางด่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนล่มสลาย

     ในปี ค.ศ. 2000 มีการเสนอแผนพัฒนาชุมชนแห่งเมืองบอสตันให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน (Community life) และชุมชนท้องถิ่น (Local community) โดยมีการออกแบบชุมชน (Community designee) จัดการกับที่อยู่อาศัย และพื้นที่ประกอบการทางธุรกิจ (Business area) เพื่อคืนชีวิตชีวาให้แก่ชุมชน มีการบูรณะโบสถ์ ที่ทำการของรัฐบาล และมีการจัดการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนอย่างจริงจัง

     ประเทศเม็กซิโก มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ สำหรับชุมชน มีการสร้างสถาปัตยกรรม (บ้าน อาคาร) แบบพื้นเมืองเพื่อแสดงให้เห็นวิถีการดำรงชีวิต ของชาวเม็กซิกัน โดยใช้วัสดุพื้นเมืองเป็นหลัก และมีการสร้างหอประชุมสำหรับชุมชน (Community hall) เพื่อให้เกิดการมีส่วนสังคมขึ้น (Social Interaction) ผลที่ตามมา คือ การจัดการกับมรดกของท้องถิ่น (Local Heritage) ก่อให้เกิดการสืบทอดผลงานหัตถกรรม การละเล่นและขนบธรรมเนียมประเพณีไปยังคนรุ่นใหม่ ต่อไปอย่างไม่ขาดช่วง

-ศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ในรายงานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” ระบุถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในต่างประเทศว่า นักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่เมืองซอลส์บวก(Saulsburg)บ้านเกิดของโมซาร์ท (Mozart) ในออสเตรเลียใกล้ชายแดนของเยอรมันปีละ 7 ล้านคน

ความเป็นมาของชุมชนนางเลิ้ง

     ชนหรือย่านนางเลิ้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษม ชุมชนแห่งนี้มีพัฒนาการยาวนานกว่า 200 ปี เคยเป็นพื้นที่ทุ่งนานับแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การขยายตัวของกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทำให้ย่านนางเลิ้งกลายเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เพราะเป็นชุมชนเปิดจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและแหล่งบันเทิงที่มีชื่อเสียงย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครมาจนกระทั่งกลับซบเซาลงไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1- รัชกาลที่ 3 หรือ พ.ศ.2325 – 2394) บริเวณนางเลิ้งมีสภาพเป็นท้องทุ่งรกร้างอยู่นอกกำแพงเมืองพระนครคั่นด้วยคลองรอบกรุง มีคลองมหานาคอยู่ทางทิศใต้ ประชากรของนางเลิ้งมีทั้งคนไทยและเชลยศึกที่กวาดต้อนมาทั้งเขมร ลาว ญวน และมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร นอกจากนี้ยังมีชาวใต้ ชาวละคร ชาวตะลุงและชาวสงขลาที่ติดตามกองทัพของเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งไปปราบกบฏเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2364 -2367) เรียกย่านนางเลิ้งว่า “บ้านสนามกระบือ” เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค : 2504,หน้า 225-226) ชาวบ้านเรียก “บ้านสนามควาย” สมัยรัชกาลที่ 3 บ้านสนามความเป็นทุ่งกว้างใหญ่มีผู้คนหลายกลุ่มจำนวนไม่มากนัก ใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก

ชาวใต้กลุ่มที่มาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้นำศิลปะการแสดงประเภทโขน ละครชาตรี หนังตะลุง ลิเก และปี่พาทย์มาสืบทอด จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนางเลิ้ง คณะครูพูน เรืองนนท์และลูกหลานยังคงสืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนทั้งไทย เขมร ลาว ญวน มอญ และชาวใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดสนามกระบือ (วัดสนามควาย หรือ วัดแค) เป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนี้ยังโปรดฯให้ขุดคลองแสนแสบต่อจากคลองมหานาคไปออกแม่น้ำบางปะกง ทำให้การคมนาคมสะดวกและการแลกเปลี่ยนค้าขายขยายตัวส่งผลให้มีการอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 – 2411) เสด็จฯครองราชย์ฯจึงโปรดฯ ให้ขยายพระนครไปทางด้านตะวันออกโดยขุด “คลองขุดใหม่” หรือ “คลองผดุงกรุงเกษม” ขนานกับคลองรอบกรุง พร้อมทั้งสร้างป้อมตามแนวริมคลอง 8 ป้อม ทำให้บ้านสนามกระบือกลายเป็นเขตพื้นที่ในพระนคร ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดโสมนัสราชวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นโท และโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดสนามกระบือ หรือ วัดแค” เป็น “วัดสุนทรธรรมทาน”

การพัฒนาสู่ความทันสมัยของชุมชนนางเลิ้ง

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 ทำให้สยามผูกพันกับเศรษฐกิจโลก จึงมีชาวต่างประเทศทั้งจีน ฝรั่ง และแขกต่างทยอยกันเข้ามาตั้งห้างร้านและตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลาย เกิดธุรกิจโรงแรม ท่าเรือ การค้าปลีกและค้าส่ง ในสมัยรัชกาลที่5 มีนโยบายส่งเสริมการค้าและธุรกิจด้วยระบบสาธารณูปโภคทันสมัยแบบตะวันตก เช่น ไฟฟ้า ประปา รถราง ไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรเลข ถนนหนทาง สะพานข้ามคลองให้รถวิ่ง และมีการสร้างวัง สถานที่ราชการ ตึกฝรั่งและห้องแถว เพื่อตอบสนองการขยายตัวทางการค้าภายในเมืองและการค้าระดับประเทศ กรุงเทพฯจึงพัฒนาสู่การเป็นมหานครทางการค้า มีการขยายพระราชวังสวนดุสิตออกนอกแนวคลองผดุงกรุงเกษม มีการตัดถนนหลายสาย เช่น ถนนราชดำเนิน (ใน กลาง และนอก) ถนนสามเสน ถนนกรุงเกษม ถนนหลานหลวง ถนนลูกหลวง ถนนนครสวรรค์ ถนนพะเนียง ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนศุภมิตร ถนนพิษณุโลก มีการสร้างสะพานข้ามคลองต่างๆ เพื่อใช้ในการสัญจรถึงกันได้สะดวก เป็นการเปิดพื้นที่นอกกำแพงพระนครด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกให้เจริญและกลายเป็นย่านที่ผู้คนเข้าถึงได้ทั้งการคมนาคมทางบกและทางน้ำตามลำดับ

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินแก่พระบรมวงศานุวงศ์และพระราชโอรสเพื่อสร้างวังจำนวนกว่า10 แห่ง ได้แก่ วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (วังนางเลิ้ง) วังกรมหมื่นไชยศรีสุริโยภาส วังกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร(วังสะพานขาว) วังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ(วังวรดิศ)

เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นทำให้เกิดพื้นที่ค้าขายและมีการสร้างตลาดนางเลิ้งขึ้นริม “ถนนตลาด หรือ ถนนนครสวรรค์” ตลาดนางเลิ้งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2443 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกสมัยฉบับ 30 มีนาคม ร.ศ. 118 สิ่งที่ตามมา คือ โรงฝิ่น บ่อนพนัน สถานหญิงขายบริการ หรือ บ้านโคมเขียว ตลาดนางเลิ้งยังรวมถึงอาคารตึกห้องแถวโดยรอบด้วย ทำให้ตลาดเป็นศูนย์กลางของการค้า มีคนจีนเคลื่อนย้ายมาอยู่หนาแน่นขึ้น ขณะที่ชุมชนดั้งเดิมยังคงอยู่รอบๆวัดสุนทรธรรมทานและบริเวณรอบวัดโสมนัสราชวรวิหาร

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453 – 2468 ) มีการขยายความเจริญสู่พื้นที่นอกพระนครด้านตะวันออกซึ่งเคยเรียกว่า “ทุ่งส้มป่อย” มีการสร้างตำหนักจิตรลดารโหฐาน ส่งผลให้ย่านนางเลิ้งคึกคักยิ่งขึ้น

ในชุมชนตลาดนางเลิ้งเรื่องของนางสาวแพน เรืองนนท์ เป็นบุตรีของครูพูน เรืองนนท์ นางละครเร่ชาวสยาม อ้างถึงข้อมูลของเอนก นาวิกมูล ที่บันทึกไว้หลังจากพบกับอดีตเจ้าจอมผู้นี้เมื่อพ.ศ. 2522 “เจ้าจอมที่ถูกลืมของกษัตริย์กัมพูชา” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นรัชสมัยของพระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ ครองราชย์ปีพ.ศ. 2470 สวรรคต พ.ศ. 2484 โปรดเกล้าฯให้มีตำแหน่งเป็น “เจ้าจอมสีสวัสดิ์อำไพพงศ์” เรื่องดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดโดยนายทองใบ เรืองนนท์ ครูละครชาตรีผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของนางสาวแพน

พ.ศ. 2472 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เกิดไฟไหม้ย่านตลาดนางเลิ้งหลายครั้ง การค้าย่านนี้รุ่งเรืองเช่นเดิมบริเวณรอบตลาดเป็นเรือนที่ทำด้วยไม้ ทำให้หลายครั้งย่านนี้เกิดไฟไหม้ แต่การค้าขายของย่านนางเลิ้งก็ยังฟื้นคืนกลับมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2489) การค้าหยุดชะงักไปอีกระยะหนึ่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2489) ในปีพ.ศ. 2516 เกิดไฟไหม้บริเวณสะพานยาวย่านหญิงขายบริการ มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอาคาร ตึก หรือ ทำเป็นแฟลตที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ การปิดตัวของโรงภาพยนตร์เฉลิมธานีในปีพ.ศ. 2536 เนื่องจากมีสภาพเก่าแก่ ขาดการปรับปรุง จึงมีเอกชนเช่าพื้นที่เป็นโกดังเก็บสินค้าแทน ส่งผลให้ผู้คนอาศัยอยู่ในย่านนี้น้อยลง

สำนึกความเป็นพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้งในอดีต

      ในหลักฐานหนังสือพิมพ์เก่าพบผู้นำกรรมกรรถราง ชื่อ นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้อาศัยอยู่หลังตลาดนางเลิ้ง บ้านเลขที่ 1865 ซ. อำเภอนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร แสดงบทบาทเป็นตัวแทนของคนยากจนในการต่อสู้กับความอยุติธรรม เขาเริ่มมีบทบาทดังกล่าวจากการทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร (2467) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ วิเศษพิสูจน์(2468) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสหราษฎร์พิมพ์ได้ 3 ฉบับได้เปลี่ยนชื่อ เป็นหนังสือพิมพ์ปากกาไทย(2468-2474) เสนอความคิดเรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรมให้กรรมกร วิพากษ์วิจารณ์ระบบขุนนาง การใช้เส้นสายข้าราชการและโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นายถวัติ ฤทธิเดชยังเป็นผู้เขียนฎีกาหลายฉบับถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ หนังสือกราบบังคมทูล “ขอพระราชทานอินเตอร์วิวข่าว” จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อผ่าตัดพระเนตร พ.ศ. 2474 จดหมายลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2474 รวมทั้งการฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 ข้อหาทรงหมิ่นประมาทตัวเขาอีกด้วย (เอกสารจากสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.7 ม.2.1/59) และภายหลังเขาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทราบถึงความเป็นมาของผู้คนในย่านนี้ว่า มีสำนึกในเรื่องการผดุงอิสรภาพของพวกชนชั้น
ล่าง กรรมกรการต่อสู้ในเรื่องการ เป็นปากเป็นสียงให้กับคนงานและราษฎรที่มีความเดือดร้อน รวมทั้งพยายามให้การศึกษาแก่คนงานในเรื่องการจัดตั้งองค์กร การนัดหยุดงาน เจรจาต่อรอง ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย รวมทั้งการปลุกใจให้รู้จักหน้าที่ของพลเมือง

มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญในย่านนางเลิ้ง
โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี


โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ข้างตลาดนางเลิ้งเป็นอาคารไม้ ค่อนข้างใหญ่สองชั้น หลังคามุงด้วยสังกะสี ระยะแรกฉายภาพยนตร์เงียบ(หนังใบ้) ภายในเป็นม้านั่งยาว หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ฉบับวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2461 มีประกาศแจ้งความเรื่องโรงหนังนางเลิ้งว่า “ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายทราบทั่วกันว่า บัดนี้การปลูกสร้างโรงหนังนางเลิ้งของบริษัทภาพยนตร์พัฒนาการได้แล้วเสร็จเรียบร้อย สถานที่สะอาดสะอ้าน สมควรแก่ท่านทุกชั้นบรรดาศักดิ์จะได้เป็นที่พักผ่อนอารมณ์ กำหนดจะเปิดฉายตั้งแต่วันพุธที่ 18 เดือนนี้ (ธันวาคม 2461) เป็นต้นไป” โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีได้รับความนิยมมากในขณะนั้น พ.ศ. 2475 เปลี่ยนชื่อโรงหนังนางเลิ้งเป็น “เฉลิมธานี” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 150 ปี

ปัจจุบันแม้โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานีจะอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ชาวบ้านภาคภูมิใจในความเป็นโรงหนังเก่า และยังมีความทรงจำกับการชมภาพยนตร์ ซึ่งก่อนการฉายภาพยนตร์จะมีแตรวงมาเล่นหน้าโรงภาพยนตร์เชิญชวนผู้คนมาชม บริเวณหน้าโรงหนังมีขนมของกินต่างๆ วางขาย มิตร ชัยบัญชา ดาราภาพยนตร์ยอดนิยมในอดีตก็เคยอาศัยอยู่ย่านนางเลิ้ง ภาพยนตร์ที่เขานำแสดงยังนำมาฉายก่อนจะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง กระดูกของเขาบรรจุที่วัดสุนทรธรรมทาน

การเข้ามาปรับปรุงตลาดนางเลิ้งของกรุงเทพมหานคร กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญด้วยการร้อยเรียงเรื่องราว เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชุมชนกับวีรบุรุษในหัวใจของ

ชาวชุมชนอย่าง มิตร ชัยบัญชา ผู้เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบุรี และมาอาศัยกับมารดาที่บ้านนางเลิ้ง ซึ่งอยู่เยื้องกับวัดแค ซึ่งมีความผูกพันกับวัดแคอย่างใกล้ชิดโดยจัดทอดกฐินและสร้างโบสถ์ จนวาระสุดท้ายของชีวิต ศพของเขาได้ตั้งบำเพ็ญกุศล 100 วันและบรรจุอัฐิที่วัดแห่งนี้



ภาพถ่ายของมิตร ชัยบัญชา ดารายอดนิยมในความทรงจำของชาวนางเลิ้ง

ได้รับการตอบรับจากทั้งนักท่องเที่ยว นักกิจกรรมทางสังคม และยังจุดประกายให้สมาชิกชุมชนตลาดนางเลิ้งที่เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ริเริ่มถ่ายทอดปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่ลูกหลานของตนมาตั้งแต่บัดนั้น



ภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดงาน ของ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “เยือนถิ่นเก่า เล่าขานย่านนางเลิ้ง” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2553

ณ บริเวณหน้าโรงหนังศาลาเฉลิมธานี ตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร



ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2554 เกิดการสร้างความสมานฉันท์ระหว่าง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กับชาวชุมชนบนพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตพระนคร ได้ริเริ่มการสร้างกระบวนการทำงานที่เริ่มจากคนในชุมชน รวมกลุ่มกันสร้างเครือข่าย “ฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิงอนุรักษ์ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระนคร”ครั้งแรก โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการสรุปผลงานและเปิดพื้นที่ให้กับบุคคลภายนอกเพื่อเข้ามาเยี่ยมชม มีองค์กร และหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากมาย เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักวัฒนธรรม กีฬาและกท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอศิลป์ตาดู สสส. วัด หน่วยงานราชการและเอกชน กลุ่มศิลปิน ช่างภาพ เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมชุมชนในชุมชนนางเลิ้งใช้ชื่อว่าชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน กับอีก 5 ชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ เขตพระนครคือ ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้แก่ ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ ชุมชนวัดดุสิตาราม และชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสถาปัตยกรรมอาคารอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2553 มีการเปิดประชาเสวนาเรื่อง “อนาคต...ทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในย่านเมืองเก่า” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รองศาสตราจารย์ ดร. วีระ สัจจกุล อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ศาสตราจารย์ นพ. วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายประยูร พงษ์ตันกุล ผู้แทนเครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิงอนุรักษ์ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมประกอบพิธีเปิดงาน นายจิรายุ อิศรางกูล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และนางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) กล่าวเปิดงานโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สำหรับชุมชนนางเลิ้งมีลักษณะพิเศษ คือ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นการริเริ่มโครงการของชาวชุมชนเองใช้ชื่อว่า “เทศกาลฉายหนังอีเล้ง” ในกิจกรรม “ทอดน่องท่องอดีต นางเลิ้ง” เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2553 ณ ย่านประวัติศาสตร์นางเลิ้ง โดยคณะผู้จัดทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องอีเลิ้ง ชาวชุมชนย่านนางเลิ้ง และกองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นการฉายหนังสั้นชนะการประกวดภาพยนตร์สั้นของสมาชิกชุมชน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ มิตร ชัยบัญชา นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีการร่วมกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดร่วมกับนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในโครงการ“สานสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์และชุมชนการเพิ่มมูลค่าและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนกับพิพิธภัณฑ์ และพาชาวชุมชนนางเลิ้งและชุมชนใกล้เคียงมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และโครงการต่อเนื่องของพิพิธภัณฑ์ฯวันที่ 3 กันยายน 2554 เป็นโครงการความผูกพันระหว่างพิพิธภัณฑ์กับเด็กในชุมชนนางเลิ้งและชุมชนใกล้เคียง เพื่อเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยและปลูกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้เยาวชน และล่าสุดผู้นำชุมชนตลาดนางเลิ้งมีการพาเยาวชนในชุมชนออกเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ตลาดลำพญา จ.นครปฐม เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายและปลูกฝังแนวคิดเรื่องพลเมืองสำนึกรักชุมชน โดยการสนับสนุนรถตู้โดยสารจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

-ความซบเซาของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมส่งผลให้หลายบรรดาวังเจ้านายถูกปรับเป็นอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยทันสมัย สถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ เหลือเพียงไม่กี่วังที่ยังรักษาไว้ได้ ความเจริญอาทิ ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังปีพ.ศ. 2500 ส่งผลให้ร้านค้าจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง เมื่อชาวตลาดนางเลิ้งส่วนหนึ่งย้ายออกไป ตลาดย่านนางเลิ้งจึงค่อยๆซบเซาลง ครั้นมีผู้อพยพเข้ามาอยู่ใหม่เพื่อเป็นแรงงานและทำงานย่านกลางเมืองก็ทำให้หลายจุดกลายเป็นชุมชนแออัด

นอกจากนี้ การคมนาคมในอดีตของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 เคยมีรถรางวิ่งผ่านถนนนครสวรรค์ด้านหน้าตลาดนางเลิ้ง ต่อมากิจการรถรางไฟฟ้าก็เลยถูกยกเลิกไปเมื่อ 40 ปีก่อนประมาณ พ.ศ.2511 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการกีดขวางทางจราจร ได้ข้อมูลจากครอบครัวของพนักงานขับรถรางอาศัยอยู่ในชุมชน ตลาดนางเลิ้ง

ความเข้มแข็งของชุมชนตลาดนางเลิ้งแบบแผนของการเป็นต้นกล้าพลเมือง

                    ชุมชนตลาดนางเลิ้งมีคณะกรรมการชุมชน จำนวน 12 คน ประกอบด้วยคนขับจักรยานยนต์รับจ้าง คนขายกล้วยแขก เจ้าของร้านค้าตึกแถว ฯลฯ มีนางสุวัน แววพลอยงาม หรือ พี่แดงอายุ 51ปี เธอเป็นผู้นำชุมชนนางเลิ้ง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 –ปัจจุบัน (2554) เป็นเวลามากกว่าสิบปีมาแล้ว การดำรงตำแหน่งหัวหน้าชุมชนมีวาระคราวละ 2 ปี คณะกรรมการชุมชนจะมีการประชุมเดือนละครั้ง ระยะแรกๆ ตัวแทนของชุมชนจากอาคารตึกแถวไม่ค่อยจะเข้ามาร่วมประชุมบ่อยนัก โดยเห็นว่าหนังสือเชิญประชุมเป็นเพียงกระดาษถ่ายสำเนาลายมือเขียนเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์และวัสดุสำนักงานทันสมัยในการทำงานเพื่อชุมชน เมื่อมีการออกระเบียบว่าหากผู้แทนคนใดขาดประชุมเกิน 3 ครั้ง ก็จะถูกตัดชื่อออก ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่ององค์ประชุมอย่างได้ผล คำตอบของการมีผู้นำชุมชนเป็นสตรียาวนานแบบซื่อๆ คือ ชื่อชุมชนบ่งบอกความเป็นสตรี และบุคลิกภาพที่มักจะกระโดดเข้าแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมของชุมชน หรือ การนัดสัมภาษณ์ การแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ชุมชนตลาดนางเลิ้งนับเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จของชาวชุมชน เกิดจากทั้งปัญหาภายใน อาทิ ปัญหาต้องการการสนับสนุนอุปกรณ์สื่อสารอิเลกโทรนิกและเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนปัญหาจากภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้สั่งการมีกฎหมายควบคุมบังคับมีปัญหาเกี่ยวกับการไล่รื้อที่อยู่อาศัย เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต
ภาพการ์ตูนล้อการเมืองข้างบนมีคำอธิบายเกี่ยวกับพระคลังข้างที่สมัยรัชกาลที่ 7 ดังข้อความในคอลัมน์ “เตือนนิดสะกิดหน่อย ” จากหนังสือพิมพ์สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 ประจำวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ความว่า

“ พระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 7 เรา (สยามรีวิว) สังเกตดูการงานอันเกี่ยวข้องกับพลเมือง มีความอารีอารอบดีกว่าสมัยก่อนหลายสิบเท่า เราขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีปรกติเลิศด้วยเมตตาคุณและกรุณาคุณ จงทรงพระเจริญยั่งยืนนาน ชโย ” (สยามรีวิว, 2469)


ที่มา : ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ภาพการ์ตูนล้อการเมือง จาก นสพ.สยามรีวิวรายสัปดาห์

มีบทความในหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพล้อมีความเกี่ยวข้องเรื่องของการฟ้องร้องไล่ที่ ดังคดีตัวอย่าง ดังนี้

“ หลวงสิริกาญจน์เสวก ฟ้องขับไล่นางเน้ยกับพวกรวม 4 คนให้ออกจากตึกเช่าที่โจทก์ได้ผูกขาดมาจากพระคลังข้างที่ เรื่องนี้ทนายจำเลย (ร.ต.ต วาศ สุนทรจามร) ได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ทำให้มีความกรุณาต่อพลเมืองผู้ยากจน โดยบังคับให้โจทก์ถอนฟ้องจากศาล และบังคับให้หลวงสิริกาญจน์เสวกลดค่าเช่าลงจากเดือนละ 48 บาท 75 สตางค์ เหลือเพียงเดือนละ 30 บาทเท่านั้น” (สยามรีวิว, 2469)

ศิลปวัฒนธรรม: กลไกการสร้างความเป็นพลเมืองและคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนนางเลิ้ง

สภาพชีวิตของชุมชนนางเลิ้งยังมีปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เช่น ปัญหาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ อาชญากรรม แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างของคนในชุมชน แต่ก็มีความสมานฉันท์กันร่วมมือร่วมใจกัน เนื่องจากชุมชนยึดหลักการพึ่งตนเองสูง มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และศูนย์สุขภาพชุมชน และการมีความเอื้ออาทรกันเพราะมีศูนย์รวมจิตใจ คือ วัดสุนทรธรรมทาน มีเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ชื่อ พระอาจารย์ ช้วน วัดแคนางเลิ้งมีอดีตเจ้าอาวาสซึ่งแม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่ก็เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนจนถึงปัจจุบัน คือ พระราชธรรมวิจารณ์ หรือ หลวงปู่ธูปซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน เนื่องจากเป็นถิ่นนักเลงดัง เช่น แดง ไบเล่ย์ ปุ๊ ระเบิดขวด เป็นต้น

กำลังสำคัญชุมชนตลาดนางเลิ้ง ในการสร้างความเป็นพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง คือ นางสาวนางสาวสุวัน แววพลอยงาม และนางสาวนวรัตน์ แววพลอยงาม (น้องน้ำมนต์ ) สองแม่ลูกที่ทำงานจิตอาสา เพื่อเยาวชนและชุมชนตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯมาด้วยกัน พื้นฐานการศึกษาของประธานชุมชน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการตลาดจากมหาวิทยาลัยเกริก สถานภาพสมรส สามีรับราชการ ส่วนนางสาวนวรัตน์ แววพลอยงามเป็นลูกสาวของประธานชุมชน เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการ “กล้าใหม่..ใฝ่รู้” เมื่อพ.ศ.2551 และยังเป็นหัวหน้าโครงการ “ศิลปะชุมชน” และแกนนำเยาวชนนางเลิ้งด้วย เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังศึกษาต่อปริญญาโท ทำให้เธอนำความรู้และความสามารถมาถ่ายทอดพื้นฐานทางด้านศิลปะให้กับเด็กในชุมชน และยังได้ริเริ่มร่วมกันปรึกษาหารือกับมารดาและกรรมการชุมชนจัดทำโครงการอาสาสมัครด้านยุวมัคคุเทศก์ของชุมชน กิจกรรมหลายอย่างเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนโดยไม่ถูกชี้นำโดยหน่วยงานหรือองค์กรใด ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมีสำนึกพลเมืองอย่างแท้จริง นอกจากนี้การรวมตัวของเยาวชนในชุมชนแสดงให้เห็นการมีจิตสำนึกในสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง ความใฝ่ฝันของนางสาวนวรัตน์ แววพลอยงามและมารดา คือ โครงการจัดทำโรงเรียนทางเลือกให้กับเด็กในชุมชน

บทสรุป

   ตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้อาศัยในตึกแถวอาคารร้านค้า และบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองฟากถนนนครสวรรค์และปริมณฑลใกล้เคียง จำนวน 235 ครัวเรือน ประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งที่เป็นข้าราชการ พ่อค้า แม่ค้า พนักงาน คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง คนขายกล้วยแขก ฯลฯ ชุมชนดังกล่าวมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้เป็นที่ตั้งของวัดและวังจำนวนไม่น้อย

      ชุมชนแห่งนี้เคยมีที่รุ่งเรืองสุดสุดในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม พ.ศ.2374 เหตุการณ์ไฟไหม้ตึกแถว ชุมชนสะพานยาวในปีพ.ศ.2472และพ.ศ.2512 ตามลำดับ รวมถึงการปิดตัวของโรงภาพยนตร์ในปีพ.ศ.2536 ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนนางเลิ้งซบเซา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2543 เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายได้จัดงานฉลองตลาดนางเลิ้งอายุครบ 100ปี จากนั้นในปีพ.ศ.2549 กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงให้ตลาดนางเลิ้งมีลักษณะเป็นตลาดรูปแบบใหม่ พร้อมๆกับการที่อาคารร้านค้าและตึกแถวในย่านตลาดนางเลิ้งถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์
จากปัจจัยการเติบโตของชุมชนเมืองและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันสืบเนื่อง ทำให้ชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งตระหนักในคุณค่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน พวกเขาจึงพยายามเรียกหาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจของชุมชน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อมโยงในอดีตแก่ลูกหลานของตน โดยใช้โรงภาพยนตร์เฉลิมธานีเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรมแลกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เมื่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเข้ามารื้อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งทั้งผู้อาศัยในตึกแถวร้านค้าและชาวชุมชนบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ต่างพร้อมใจกันต่อต้านและเรียกร้องมิให้กระทำการดังกล่าว ปัจจัยทางด้านพื้นฐานการศึกษาระดับปริญญาตรีของหัวหน้าชุมชน และความมีจิตอาสาของเธอบุตรสาวซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็มิได้ออกไปทำงานนอกพื้นที่ชุมชนเพื่อเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจเฉพาะตน มิหนำซ้ำยังได้เข้ามาอาสาการร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์และการนำมรดกทางด้านวัฒนธรรมเพื่อหล่อหลอมความเข้มแข็งและพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตด้านต่างๆของสมาชิกชุมชนบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ส่งผลทำให้ชาวตึกแถวตลาดนางเลิ้งยอมรับบทบาทการนำของผู้นำชุมชนหญิงในฐานะตัวแทนที่แท้จริงของชุมชน นางสาวสุวัน แววพลอยงาม จึงได้รับการเลือกกลับเข้ามาใหม่ทุกครั้งหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่ง การนำแนวทางใหม่ๆ ด้านมรดกวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงชุมชน ทำให้กิจกรรมของชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งเป็นแบบอย่างของการสร้างความเป็นพลเมือง(Citizen) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งแม้กระบวนการดังกล่าวจะเริ่มต้นมาได้ไม่ถึง 10 ปี ก็ตาม

ความสำเร็จของชาวชุมชนครึ่งตึกครึ่งไม้ในด้านดังกล่าว ทำให้จากเดิมที่พวกเขาเคยถูกมองราวกับเป็นชนชั้นล่างไร้การศึกษาและได้รับการปฏิบัติทางวาจาที่ไม่ดีนักจากเจ้าหน้าที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันพวกเขาได้รับการปฏิบัติดีขึ้นในฐานะ “พลเมือง” ของกรุงเทพมหานครชุมชนหนึ่งเทียบเท่ากับชุมชนอื่นๆ

ปัญหาของชุมชนมีให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลานอกเหนือจากปัญหาปากท้องของชาวชุมชน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายใน เนื่องจากชาวชุมชนบางครอบครัวไม่พอใจที่มีคนภายนอกเข้าไปร่วมใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชน ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากปัจจัยภายนอก อาทิ ในพ.ศ.2553 ระหว่างที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง สมาชิกชุมชนส่วนหนึ่งรับเงินจากทั้งสองฝ่ายแลกกับการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง กระนั้นก็ตาม เมื่อชุมชนถูกคุกคามจากกลุ่มคนภายนอกที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง กลับส่งผลให้ชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งแสดงความหวงแหนชุมชนของตนด้วยการรวมตัวกันปกป้องชุมชนของตนอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นที่มั่นสุดท้ายของพวกเขา ขณะที่สมาชิกของชุมชนบางแห่ง เช่น ย่านอื่นกลับลี้ภัยไปอยู่ต่างจังหวัดกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพัฒนาการในการสร้างจิตสำนึกของพลเมืองมีลักษณะที่ไม่ต่อเนื่อง และเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจโดยรวมของชาวชุมชนตลาดนางเลิ้งมีความแตกต่างกันระหว่างผู้อาศัยอยู่ในอาคารตึกแถวกับผู้อาศัยในบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ทำให้การปลูกฝังแนวคิดเรื่องฐานะความเป็นพลเมืองของชุมชนดังกล่าวจึงอยู่ในระดับเริ่มต้น การนำแนวคิดของอลัน วอล์คเกอร์ (Alan Walkers) อาทิ ความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในชุมชนนางเลิ้งแสดงออกอย่างไร การให้อำนาจแก่สังคมและชุมชน มีอะไรบ้าง ลำดับขั้นทางสังคมในชุมชน มีลักษณะอย่างไร ความแตกต่างด้านวัยในตลาดแรงงานในชุมชน นโยบายของตลาดแรงงานที่มีคนสูงวัยในชุมชนเป็นอย่างไร การตอบสนองของนายจ้างต่อคนในชุมชนนางเลิ้งเป็นอย่างไร คนสูงวัยในชุมชนเรียนรู้อะไรบ้าง มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีหรือไม่ คนสูงวัยในชุมชนถ่ายทอดอะไรบ้าง เขตป้อมปราม/กทม. จัดหาบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมแก่คนในชุมชน คนแก่ เด็กอย่างไร สิทธิของชุมชนนางเลิ้งในฐานะผู้บริโภคแสดงออกด้านใดบ้าง การปฏิบัติต่อคนพิการในชุมชนเป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุหรือไม่อย่างไร มีปัญหาเรื่องการไม่เท่าเทียมกับเศรษฐกิจทางสังคมอย่างไร มีการกีดกันทรัพยากรในชุมชน อาทิ การแย่งที่จอดรถ การกีดกันที่จอดรถจากคนภายในและคนภายนอก มาตรฐานความจนอยู่ที่ไหน ความจนวัดที่ไหน ชนชั้นกลางอยู่ตรงไหน กลไกการสร้างพลังของชุมชนนางเลิ้งมาจากไหน ปัญหาในชุมชน การดำเนินชีวิตในช่วงวัยชราของสมาชิกชุมชน(Social Gerontology) การปรับตัวและการรวมตัวของสถาบันชุมชน นโยบายของชุมชน การประชุมของคณะกรรมการชุมชน ความเข้าใจของชุมชนที่มีต่อคุณภาพชีวิต ฯลฯ ซึ่งเหมาะกับสังคมรัฐสวัสดิการในประเทศพัฒนามาใช้ในการศึกษาชุมชนแห่งนี้ จึงยังไม่เหมาะสม ขณะที่แนวคิดของอานันท์ ปันยารชุน เรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในเรื่องภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและความโปร่งใสค่อนข้างจะนำมาผสานผสานได้มากกว่าความคิดของวอล์คเกอร์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคลของ นายเอก วีสกุล เลขที่ สบ.9.2.2/15 (สยามรีวิว ปีที่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 ประจำวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 )

เอกสารจากสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ เลขที่ ร.7 ม.2.1/59

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “วัฒนธรรมทางการเมืองไทย” เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรมและการปกครอง. ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2550 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. ปาฐกถาเนื่องในพิธีลงนามตามโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วันอังคารที่ 12 เมษายน 2554

ประเวศ วะสี .พลังท้องถิ่นในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม. (กรุงเทพ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2546.

ปราณี กล่ำส้ม. “ ย่านนางเลิ้งในอดีต” ใน ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 : ตุลาคม 2549 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2549.

ปิยนาถ บุนนาค. “พลเมือง” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ สร้างคน สร้างชาติ : พระราชดำริสืบเนื่องสี่รัชกาล กรุงเทพฯ : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2547.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. “อวสานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 110 ปี ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรคนแรก” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2547.

เอกวิทย์ ณ ถลาง. ภาพรวมภูมิปัญญาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 . (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์, 2544). มมน., รายงานการสัมมนาครั้งที่ 2

----------------. เรื่อง การวิจัยศิลปวัฒนธรรมกับการบูรณาการความรู้, โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 11-12 กุมภาพันธ์ 2543.

เอกสารประกอบโครงการ “ฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิงอนุรักษ์ ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระนคร” เป็นกิจกรรมที่ ชาวชุมชน 6 ชุมชนพร้อมใจกันเปิดตรอกซอกซอยให้เตร็ดเตร่ เยี่ยมชมวัฒนธรรมมีชีวิตและการสืบทอดอาชีพ วันที่ 16 ตุลาคม 2553. เอกสารเย็บเล่มโดยคณะทำงานโครงการเตร่ตรอกลัดรั้วบ้าน ครั้งที่ 1

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นางสาวสุวัน แววพลอยงาม ( พี่แดง) ประธานชุมชนนางเลิ้ง อายุ 51 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554 ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นางสาวนวรัตน์ แววพลอยงาม (น้องน้ำมนต์) อายุ 25 ปี ทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554 ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นางเพ็ญจันทร์ นามสมมุติ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านขายเครื่องสำอางโพลาและนวดหน้า ริมถนนนครสวรรค์หน้าตลาดหน้าเลิ้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ แม่ค้าขายผลไม้เชื้อคนไทยสายจีนในตลาดนางเลิ้ง อายุ 64 ปี ผู้เช่าตึกจากสำนักทรัพย์สินและอาศัยอยู่ตั้งแต่เกิด

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นางลัดดา ไผ่ศิริ (ป้าแตน) อายุ 62 ปี อาสาสมัครศูนย์สุขภาพชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) เป็นลูกสาวกรรมกรขับรถราง

ข้อมูลจาการสัมภาษณ์ นางสุวลี ช่ำชองยงค์ (ป้าแป๋ว) อายุ 71 ปีอาสาสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) อดีตเป็นแม่ค้าขายขนมหวานที่ตลาดนางเลิ้ง

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นักวิชาการอิสระ และเจ้าหน้าที่ของกองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนมาโดยตลอด อาทิ นาย จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ นายระพีพัฒน์
เกษโกศล และนาย ณพัดยศ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกองการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ

สรุปรายงานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” อ้างใน
ข้อมูลจากอินเตอรเน็ต สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2554
http://sustainabletourismdpu.blogspot.com/
http://www.oknation.net/blog/drchatree/2008/08/08/entry
http://www.shef.ac.uk/socstudies/staff/staff-profiles/walker.html
Prof. Geogina Butina Watson, “Heritage Tourism and Community Development” Sustainable Tourism : Community Based Ecotourism Development in the Asia Pacific ณ สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 7-8 กันยายน 2543.







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน

ความรักชาติ