การสร้างความปรองดองแห่งชาติ: กรณีศึกษาสาธารณรัฐชิลี (Republic of Chile)

1.ที่ตั้ง ภูมิประเทศและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

            สาธารณรัฐชิลี ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นแผ่นดินแคบๆทอดเป็นแนวเส้นตรงยาวประมาณ 4,329 กิโลเมตร โดยด้านกว้างของประเทศไม่มีส่วนใดของประเทศมีพื้นที่กว้างเกิน 240 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันออกมีเทือกเขาแอนดิสทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ระหว่างกลางของเทือกเขากับมหาสมุทรเป็นที่ราบลุ่มแคบๆ ขึ้นไปทางเหนือพื้นที่จะค่อยๆสูงขึ้นและแห้งแล้งมากขึ้น พื้นที่ภาคกลางเป็นหุบเขายาวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนตอนใต้เป็นป่าดึกดำบรรพ์และทะเลสาบ ทิศตะวันตกตลอดแนวฝั่งจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศเหนือจรดประเทศเปรูและโบลิเวีย ทิศตะวันออกและทิศใต้จรดอาร์เจนตินา มีพื้นที่ 756,102 ตารางกิโลเมตร (รวมทั้งเกาะอีสเตอร์และเกาะอื่นๆ)

            ชาวพื้นเมืองชิลีมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกเสร็จสิ้นแล้ว ทรงพบว่าพระองค์มีสิ่งต่าง ๆ หลงเหลืออยู่อย่างละเล็กละน้อย เช่นแม่น้ำ ภูเขาไฟ ทะเลสาบเทือกเขา ทะเลทราย ฟยอร์ก ธารน้ำแข็ง ฯลฯ ครั้นจะโยนทิ้งไปก็เสียดาย จึงจับสิ่งเหล่านั้นมากองไว้ที่มุมโลก ซึ่งที่นั่นก็คือชิลี

          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวพื้นเมืองได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามแถบเชิงเขาและริมทะเลซึ่งเป็นประเทศชิลิในปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ต่อมาอาณาจักรอินคาได้แผ่อิทธิพลจากเปรูเข้ามาทางภาคเหนือแต่ได้รับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากชนพื้นเมือง

          ในปีค.ศ. 1520 เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงตอนใต้ของชิลี ส่วนชาวยุโรปคนที่สองที่เดินทางมาถึงที่นี่ได้แก่ดิเอโก เดอ อัลมาโกร (Deigo de Almagro) ชาวสเปน ซึ่งเดินทางจากเปรูเข้ามาค้นหาทองคำ เมื่อปีค.ศ. 1535 และพบว่ามีชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ หลายหมื่นคน อาศัยอยู่ในแถบนี้ โดยดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และทำไร่เลื่อนลอย สเปนเริ่มเข้ามายึดครองชิลีในปีค.ศ. 1540 โดยการนำของเปโดร เดอ บัลดิเบีย (Pedro de Valdivia) ซึ่งเป็นผู้สร้างกรุงซันติอาโกขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1541 อย่างไรก็ตามสเปนประสบความผิดหวังที่ไม่พบแร่ทองและเงินในดินแดนแห่งนี้ แต่ก็พอใจในความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จึงผนวกชิลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเปรู

           การเข้ามาของชาวสเปน สร้างความไม่พอใจแก่ชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะชนเผ่ามาปูเช ชาวพื้นเมืองจึงลุกขึ้นขับไล่ผู้รุกรานในปีค.ศ. 1553 เป็นผลให้บัลดิเบียเสียชีวิต มาปูเชได้ก่อความไม่สงบอีกหลายครั้ง จนสเปนต้องทำสัญญาสันติภาพและแบ่งเขตให้มาปูเชอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ

            ในปีค.ศ. 1808 นโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศส สถาปนาพี่ชายคือโจเซฟ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นกษัตริย์สเปน ซึ่งก่อให้เกิดปฎิกริยาอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวอาณานิคมของสเปนในอเมริกาใต้ จนถึงขั้นมีความคิดที่จะแยกตัวเป็นเอกราช ในปีค.ศ. 1810 ได้มีการก่อตั้งขบวนการรักชาติซึ่งเรียกตัวเองว่าเฟอร์ดินานด์และประกาศให้ชิลีเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองแต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสเปน

              อย่างไรก็ตามการเรียกร้องเอกราชโดยสมบูรณ์ยังคงดำเนินสืบไปอย่างต่อเนื่อง ในปีค.ศ. 1817 กองทัพประชาชน นำโดยโฆเซ่ เดอ ซันมาร์ติน (Jose de San Martin) และเบอร์นาร์โด โอ’ฮิกกินส์ (Bernando O’Higgins) ได้นำกำลังข้ามภูเขาแอนดิส เข้ามาขับไล่กองทหารของฝ่ายอาณานิคม และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1818 เดอ ซันมาร์ติน ก็ประกาศชัยชนะและประกาศให้ชิลีเป็นเอกราช โดยโอ’ฮิกกินส์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกและเป็นผู้วางรากฐานทางการเมืองและการปกครองในแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแก่ชิลี อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว มีผลกระทบต่อประชาชนไม่มากนัก เนื่องจากชิลีมีโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันครอบครัวและศาสนาโรมันแคธอลิก

                ในปีค.ศ. 1879-1883 ชิลีทำสงครามแปซิฟิก (War of Pacific) กับเปรูและโบลิเวีย ซึ่งชิลีเป็นฝ่ายมีชัย ทำให้ได้ครอบครองดินแดนทางตอนเหนือจากโบลิเวีย คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ในปัจจุบัน และเป็นบริเวณที่อุดมด้วยแร่ทองแดง ในปีค.ศ. 1891 เกิดความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภา อันนำไปสู่สงครามกลางเมือง และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา ทำให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปีค.ศ. 1925 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการก่อตั้งขบวนการมาร์กซิสต์ขึ้นในชิลี แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชิลีมีประธานาธิบดีที่นิยมลัทธินาซี และประกาศตัวอยู่ข้างฝ่ายอักษะ

           การชนะการเลือกตั้งในปีค.ศ. 1970 ทำให้ซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) เป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรคการเมืองที่นิยมมาร์กซิสต์ในประเทศที่มิได้เป็นคอมมิวนิสต์ อาเยนเดได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางของมาร์กซิสต์ เป็นผลให้ถูกคณะทหารซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ซีไอเอ. ทำการปฎิวัติโค่นล้มอำนาจในปีค.ศ. 1973 และนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) หัวหน้าคณะปฎิวัติขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ว่า ปิโนเชต์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ชิลี แต่ก็มีรายงานว่าได้มีการสังหารและทำร้ายผู้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นจำนวนมาก

        ปิโนเชต์หมดอำนาจลงในปีค.ศ. 1990 หลังจากนั้นพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยม (ซ้ายกลาง) ก็ได้ครองอำนาจอย่างต่อเนื่อง ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด เมื่อปีค.ศ. 2006 นางมิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet) แห่งพรรคสังคมนิยมได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี และจัดตั้งรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีหญิงจำนวนครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรี โดยให้ความสำคัญแก่นโยบายด้านสวัสดิการสังคม ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และคุณภาพชีวิต รวมทั้งการค้าเสรี และการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

            ต่อมาในปีค.ศ. 2010 นายเซบัสเตียน ปิเญรา เอเชนีก (Sebastián Piñera Echenique) ผู้นำพรรค Renovación Nacional (RN) ได้ชนะการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาคนแรกในรอบ 20 ปี จนปัจจุบัน

2. สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสังคมชิลี

2.1 สภาพบริบททางการเมือง

             รัฐบาลประชาธิปไตยใหม่ในหลายๆประเทศ มักจะเข้ามาแทนที่รัฐบาลเก่าที่มีพฤติกรรมที่กดขี่ข่มเหงประชาชน (older repressive regimes) โดยทั่วไปรัฐบาลเก่ามักจะมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Right Abuses) อยู่เสมอ

              ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) หมายถึง ความพยายามที่รัฐบาลใหม่จะดำเนินการตรวจสอบการกระทำผิดที่ปราศจากความยุติธรรมของรัฐบาลเก่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญก็คือ ความยุ่งยากในการที่จะ“บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาของประชาชนซึ่งได้รับความเจ็บแค้นมานานจะสามารถยอมรับได้รวมถึงการสร้างความชัดเจนอันเป็นที่ยอมรับได้ให้แก่ทั้งฝ่ายไล่ล่าอำนาจเก่า (witch-hunt) และฝ่ายที่ต้องการลบล้างความผิด (whitewashes)”
              จามาล เบนโนมาร์ (Jamal Benomar) ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยอีมอรี่ มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (the director of the Human Rights Program of the Carter Center at Emory University in Atlanta, Georgia) กล่าวว่าประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยว่าการฟ้องร้องและลงโทษเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชน พวกเขายืนยันว่าความล้มเหลวในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีจำนวนมาก การดำเนินคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนมีส่วนช่วยให้รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวชี้ชัดว่าความตั้งใจของรัฐบาลใหม่ในการยึดมั่นต่อค่านิยมทางประชาธิปไตย (Democratic values) และมีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน การลงโทษยังเป็นการยับยั้งการละเมิดด้านต่างๆในอนาคตได้ด้วย การลงโทษจะเป็นการถอนรากถอนโคนองค์ประกอบที่เลวร้ายที่สุดซึ่งตกค้างหลงเหลืออยู่ในกองทัพและกองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลเก่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเป็นการอำนวยผลด้านการเยียวยาให้กับผู้ตกเป็นเหยื่อได้อีกด้วย

           ประชาชนอีกส่วนหนึ่งสนับสนุนนโยบายการนิรโทษกรรมและการปรองดอง (policy of amnesty and reconciliation) พวกเขาเสนอว่าการดำเนินคดีตามกฎหมายจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อกองทัพสูญเสียอำนาจไปแล้วเท่านั้น แต่การปกครองแบบประชาธิปไตยใหม่นั้นมักจะมีความเปราะบาง ในกรณีที่กำลังทหารของรัฐบาลเก่ายังคงมีอำนาจอยู่ในมือนั้น ความพยายามในการที่จะดำเนินคดีกับคนในกองทัพอาจทำให้เกิดขบถได้ ในกรณีดังกล่าวนโยบายนิรโทษกรรมและการปรองดองเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาธิปไตยใหม่ (the new democracy) ยิ่งไปกว่านั้นปรากฏว่าในหลายๆกรณีทั้งกองกำลังฝ่ายตรงข้าม (the opposition forces) และรัฐบาลเก่า ( old regime) ต่างก็เคยกระทำความผิดในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกันทั้งสิ้น

          เบนโนมาร์ (Banomar) ได้สำรวจความพยายามหลายๆครั้งในการปกป้องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยได้ตรวจสอบการเปลี่ยนผ่านทางสังคมจากระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งรัฐในอดีตสหภาพโซเวียต ( the former Soviet states) เยอรมันตะวันออก(East Germany)และยุโรปตะวันออก (Eastern Europe) รัฐบาลใหม่ของประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินกิจการของประเทศในการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงประชาชนในอดีต จะเห็นได้ว่าสหภาพโซเวียตประกาศห้ามการมีพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ประเทศเชกและสโลวัค (Czech and Slovak) ได้ใช้กระบวนการควบคุมการมีส่วนร่วม(Lustration) และใช้กฎหมายกีดกันมิให้สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมดก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลใหม่ ซึ่งทำให้ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะกฎหมายดังกล่าวขัดต่อบรรทัดฐาน(norms)ระหว่างประเทศ ซึ่งปฏิเสธแนวคิดเรื่องการกระทำความผิดร่วมกัน (notions of collective guilt)

           ในประเทศชิลี(Chile)และอาร์เจนตินา(Argentina) กองทัพยังคงมีความเข้มแข็งมาก ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนกลับไม่มีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ทางทหาร อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ได้พยายามตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตอย่างเต็มที่ โดยคณะกรรมการตรวจสอบความจริงหลายชุด (Truth commissions)ได้เปิดเผยให้เห็นถึงลักษณะและขอบเขตของอาชญากรรมต่างๆในอดีต ในทวีปแอฟริกา ประเทศเบนิน(Benin), ไนเจอร์(Niger)และโทโก(Togo) ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการนิรโทษกรรมอดีตผู้นำ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจให้แก่รัฐบาลใหม่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และในประเทศเอธิโอเปีย(Ethiopia) หลังจากกองกำลังทหารของฝ่ายขบถรบชนะรัฐบาลเก่าแล้ว รัฐบาลใหม่ได้สัญญาว่าจะดำเนินคดีต่อการใช้ความรุนแรงทางด้านสิทธิมนุษยชน(human right violations)ในอดีต ทำให้มีการจับกุมนายทหารและฝ่ายรักษาความปลอดภัยจำนวนหลายพันคน รัฐธรรมนูญของเอธิโอเปียยอมรับให้ปฏิญญาสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน(the Universal Declaration of Human Right) เป็นกฎหมายสูงสุดของเอธิโอเปีย

           เบนโนมาร์ ระบุว่า การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนและหลากหลายของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถที่จะมีกฎเกณฑ์แบบเรียบง่ายที่จะนำมาปรับใช้กับช่วงของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เขาชี้ว่า “ความสมดุลแห่งอำนาจ(the balance of power) ระหว่างกำลังทหาร(the forces) ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีต และพลังของประชาธิปไตย(democratic forces) ซึ่งเป็นนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านของอำนาจได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาข้างต้น3 โดยที่ประเทศประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ จำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆให้มากๆ

2.2 คู่ขัดแย้งทางการเมือง

           นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารชิลี ผู้ก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลมาร์กซิสต์ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีค.ศ.1973 โดยอ้างว่าต้องการช่วยประเทศให้หลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่เขาปกครองชิลีในระหว่างปีค.ศ.1973-1990 ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว ทรมาน และสังหารหมู่ประชาชนการละเมิดสิทธิมนุษยชนล้วนทำให้ผู้คนทั่วโลกตื่นตะลึง

2.3 สาเหตุของความขัดแย้ง

            นับตั้งแต่ปิโนเชต์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ผู้นำรัฐบาลทหารของชิลี พรรคการเมืองมาร์กซิสต์กลายเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย สิทธิพลเมืองถูกละเมิด มีการใช้มาตรการควบคุมกลุ่มการเมือง นักวิชาการ และประชาชนอย่างหนัก ปัญญาชนหลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ ภายหลังปรากฏว่า สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ(ซีไอเอ)ข่าวกรองกลางสหรัฐฯให้เงินหลายล้านดอลลาร์หนุนหลังปิโนเชต์ให้โค่นรัฐบาลของอเยนเด ในปีค.ศ. 1976 มานูเอล กอนเตรรัส ผู้บังคับการตำรวจลับของปิโนเชต์ ได้ทำแผนการ'Operation Condor' ซึ่งเป็นแผนสมรู้ร่วมคิดกับจอมเผด็จการในอเมริกาใต้อีก6ชาติเพื่อช่วยเหลือกันด้านข่าวกรองในการไล่ล่าและสังหารฝ่ายตรงข้ามในทศวรรษ1970

2.4 ความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง

           ในปีค.ศ.1980 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการอนุมัติ และ 1 ปีหลังจากนั้น ปิโนเชต์สาบานตนเข้าเป็นประธานาธิบดีซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งนานถึง 8 ปี เขาย้ำอยู่เสมอว่าเขากำลังช่วยชิลีให้หลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ทว่า ในช่วงที่เขาปกครองชิลีนั้น มีผู้คนประมาณ 3,000 คนเสียชีวิต ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนถูกทรมานและอีกราวสองแสนคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

2.5 สถานการณ์ทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของชิลี

           ปิโนเชต์ถูกจับกุมตัวเมื่อปีค.ศ.1998 ในระหว่างที่พักฟื้นหลังเข้ารับการผ่าตัดหลัง ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ศาลสเปนขอให้อังกฤษส่งตัวปิโนเชต์ข้ามแดน เพื่อถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คณะแพทย์กลับสรุปว่าปิโนเชต์อ่อนแอเกินกว่าจะเข้ารับการพิจารณาคดีได้ และทางการอังกฤษก็ตัดสินใจส่งปิโนเชต์กลับชิลีในปีค.ศ.2000 หลังจากนั้น มีการพยายามลงโทษปิโนเชต์ ในข้อหาต่างๆไม่ว่าจะเป็น ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ หลบเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน แต่ปิโนเชต์ก็หลุดรอดจากการถูกดำเนินคดีในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนคดีหนึ่ง เมื่อศาลตัดสินว่าเขาวิกลจริต นอกจากนี้ เมื่อปีค.ศ.2005 ศาลอุทธรณ์ชิลียังกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่พิจารณาว่าเขาพัวพันกับแผนการ”OperationCondor” นับจนกระทั่งเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.2006 ขณะอายุ 91 ปี ยังคงมีคดีที่คั่งค้างอยู่ทำให้เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อหมดโอกาสที่จะได้เห็นความยุติธรรม


3. กระบวนการ ข้อตกลงและกฎหมายสร้างความปรองดองทางการเมือง

           กระบวนการ ข้อตกลง และกฎหมายสร้างความปรองดองในประเทศชิลีเป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยเกิดใหม่จำต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจเลือกระหว่างการนิรโทษกรรมกับการนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะกองทัพยังคงมีอำนาจสูงในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ร่างตั้งแต่สมัยทหารครองอำนาจช่วยรักษาอำนาจของนายพลระดับสูงเอาไว้ ทั้งยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปีค.ศ.1978 ทำให้ลบล้างความผิดทุกประการของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นก่อนปีค.ศ. 1978

4. บทสรุป

           รัฐบาลชิลีของประธานาธิบดี Patricio Aylwin เลือกที่จะใช้หนทางสายกลางคือ ตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง เพื่อสืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลา 17 ปีของยุคเผด็จการทหาร คณะกรรมการทำงานอยู่ 9 เดือน สอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามาถึง 4,000 เรื่อง ในจำนวนนี้ 2,025 เรื่องเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 90 เรื่องเป็นการละเมิดสิทธิฯ โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และอีก 164 กรณี เป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมืองจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น มี 641 กรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ คณะกรรมการยื่นรายงานฉบับสมบูรณ์ความยาว 1,800 หน้าให้กับประธานาธิบดี Aylwin ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1991 ซึ่งเขาได้พูดต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศผ่านทางโทรทัศน์ กล่าวคำขอโทษต่อเหยื่อและครอบครัวในนามของรัฐบาล ทั้งยังเรียกร้องให้กองทัพออกมายอมรับผิดในความผิดที่ได้ทำลงไป
           คณะกรรมการแสวงหาความจริงของชิลีได้รับการยกย่องว่าทำงานเป็นระบบ เที่ยงตรง และมีความเป็นมืออาชีพอย่างสูง องค์ประกอบของกรรมการมีความสมดุล ทำงานร่วมกับเหยื่อและองค์กรญาติ และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการมีอำนาจในการเข้าถึงเอกสารราชการและหลักฐานการชันสูตรศพของแพทย์ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจและกองทัพ ในรายงานที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ มีการจัดทำข้อเสนอให้ปฏิรูประบบกฎหมายและการศึกษาเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอนาคต และยังเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและชดเชยให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียด้วย อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ระบุรายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิเอาไว้ เพียงแค่ระบุถึงความผิดของทหารบางหน่วย สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความผิดของเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคล คณะกรรมการได้ยื่นต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการต่อ แต่กฎหมายนิรโทษกรรมก็ได้กลายเป็นอุปสรรคทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินคดีได้

เชิงอรรถ

1WWW. thaiembassychile.org สืบค้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554.

2 Jamal Benomar, “Justice After Transitions”, in Transitional Justice, ed.Neil J. Kritz, (Washington,D.C : United State Institute of Peace Press,1995) pp. 32-41.

3 Benomar, ibid, p.41



รายการอ้างอิง

Jamal Benomar. (1993 ) ‘Justice After Transition,’ Journal of Democracy Vol 4, Number 1, January 1: 3-14.

Lira, Elizabeth and Brain Loveman( 2007 ) ‘Truth, justice,reconciliation and impunity as historical

themes:Chile,1814-2006’ Radical history review 97: 42-76.

Neil J. Kritz. Ed, (1995) Conflict Research Consortium Article Summary “Justice After Transitions”

Washington,D.C United State, Institute of Peace .

จิตติภัทร พูนขำ และ สลิสา ยุกตะนันทน์. “การรัฐประหาร 11 กันยาฯ (9/11) กับการปราบปรามประชาชนในประเทศชิลี: จากระบอบปิโนเชต์สู่กระบวนการยุติธรรมข้ามชาติ” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 ตุลาคม-ธันวาคม 2553: ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม” ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 ตุลาคม-ธันวาคม 2553: ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน

ความรักชาติ