The Chilean Truth and Reconciliation Commission By Eric Brahn,July,2005.

ความจริงที่ประเทศชิลีกับการปรองดอง
ฉัตรบงกช แปลและเรียบเรียง


         หลังจากประธานาธิบดี ออกุสโต ปิโนเชต (Augusto Pinochet) ประสบกับความพ่ายแพ้จากการลงประชามติ (referencedum) อย่างไม่คาดฝันใน ปีค.ศ. 1981  (พ.ศ. 2524) ส่งผลให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ นายพาทริชิโอ เอลวิน (Patricio Aylwin) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นโยบายที่แถลงต่อประชาชนของเขาในการเลือกตั้ง (election platforms) คือ การค้นหาความจริง ความยุติธรรม การพิจารณาคดีของนักโทษการเมือง (addressing political prisoners) และการชดใช้เยียวยาผลกระทบ (reparations) ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น (Quinn 2001) ในส่วนของการตอบรับต่อแรงกดดันของสาธารณชนนั้น (Ensalaco 1994) รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมาภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น หลังจากประธานาธิบดี พาทริชิโอ เอลวินก้าวขึ้นบริหารประเทศ

          คณะกรรมการค้นหาความจริงนี้ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของการแก้ปัญหาแบบรอมชอม (compromise solution) เป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเลวร้ายจากทั้งฝ่ายนิยมซ้าย และฝ่ายนิยมขวา ที่กระทำกับประชาชนชาวชิลี (Barahona de Brito 1993) ปรากฏว่ามีเหตุผลหลายประการซึ่งทำให้การดำเนินคดีทางการเมืองต้องยุติลง ในส่วนของอดีตประธานาธิบดีปิโนเชตนั้น แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (transition) ทำให้เขาสามารถใช้อิทธิพลต่อกระบวนการดังกล่าวและยังคงเป็นผู้ทรงอำนาจอย่างยิ่ง ขณะที่รัฐบาลใหม่ในระบอบประชาธิปไตยกำลังบริหารประเทศ

          คณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเอลวิน ตระหนักเป็นอย่างดีถึงปัญหาความไม่สงบ (unrest) ในอาร์เจนตินา เมื่อบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ในระบอบประชาธิปไตยและได้ดำเนินคดีลงโทษผู้นำทางการทหารในช่วงทศวรรษ 1980’s ยิ่งไปกว่านั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีปิโนเชตในปีค.ศ. 1978 ยังบังคับด้วยว่าห้ามมิให้มีการดำเนินคดีกับการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

          นักวิชาการบางคนกล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมมีส่วนบั่นทอนศักยภาพในการทำงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง (Tepperman 2002) กระนั้นก็ตาม หลักฐานต่างๆที่พบจากการสืบสวนของคณะกรรมการการค้นหาความจริงของชิลีได้ถูกส่งมอบให้แก่ฝ่ายตุลาการ (Abrams and Hayner 2002) ผลการสอบสวนดังกล่าวมีความสำคัญขึ้นมาหลังจากการจับกุมอดีตประธานาธิบดีปิโนเชต ในกรุงลอนดอน ส่งผลให้เกิดคลื่นปฏิกิริยาทางกฎหมายตามมาในชิลี  ส่งผลให้มีบริบทต่างๆที่เกิดขึ้น การพิพากษาคดีของศาลฎีกาในชิลี เมื่อค.ศ. 1999 ระบุว่า กฎหมายนิรโทษกรรมค.ศ. 1978 มิได้ครอบคลุมไปถึงบรรดาบุคคลที่สูญหาย (disappearances) เนื่องจากเป็นคดีอาชญากรรมที่ยังไม่สิ้นสุดอายุความ (Hayner 2001) โดยปกติแล้วคณะกรรมการค้นหาความจริงนี้รู้จักกันตามชื่อของ ประธานคณะกรรมการในชื่อว่า คณะกรรมการเร็ตทิก (The Rettiq Commission) คณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายทั้งอดีตผู้สนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีปิโนเชต และฝ่ายต่อต้าน (Popkin and Rout-Arriaza 1995) มีระยะเวลาการทำงาน 9 เดือน คณะกรรมการดังกล่าวได้รับมอบหมายภารกิจหลัก 4 ประการ คือ

1.สอบสวนภาพรวมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีปิโนเชตให้สมบูรณ์เท่าที่จะสามารถทำได้

2. รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับผู้ได้รับความเสียหายให้ปรากฏชัดเจนและถูกต้อง

3. เสนอแนะเกี่ยวกับการชดเชยเยียวยา

4. เสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายและมาตรการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นมาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกในอนาคต

         นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กรอบภาระงาน (mandate) ของคณะกรรมการค้นหาความจริงซึ่งถูกจำกัดให้สืบสวนเฉพาะในคดีอาชญากรรมที่ส่งผลให้เหยื่อถึงแก่ความตายเท่านั้น (Ensalaco 1994; Hamber 1998) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “การหายตัวไป(disappearances)หลังการถูกจับกุมตัว การต้องคำพิพากษาลงโทษ (executions) และถูกทรมาน (torture) จนถึงแก่ความตาย เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงการลักพาตัว (kidnappings) หรือ  การพยายามฆ่าบุคคลอื่นโดยปัจเจกบุคคลเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง” (อ้างใน Hayner 2001)

          คณะกรรมการเร็ตทิก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 60 คน นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือทางด้านข้อมูลจากกลุ่ม NGOs ด้วย (Hayner 2001) แม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีอิสระในการดำเนินการรวบรวมหลักฐานและข้อพิสูจน์ (Quinn 2001) แต่กลับได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายทหารเพียงเล็กน้อย (Hayner 2001; Quinn 2001) ในที่สุดคณะกรรมการค้นหาความจริงก็ได้ดำเนินการสอบสวนคดีฆาตกรรมจำนวนมากถึง 3,400 คดี แต่สามารถสรุปผลการสอบสวนอย่างชัดเจนได้เพียง 641 คดีเท่านั้น (Ensalaco 1994) ผลการสอบสวนระบุว่าสาเหตุของการสูญเสีย 95% เกิดจากการกระทำของกองทัพ ในกรณีนี้ Hayner (2001) เสนอว่าการลบล้างความชอบธรรมของกองทัพ (the military’s justification) เป็นหนทางไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง (internal war) แม้คณะกรรมการค้นหาความจริงจะมิได้ระบุชื่อของบรรดาผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (perpetrators) แต่ก็มีแผนที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนในปีค.ศ.2016 (พ.ศ. 2559) (Quinn 2001) เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการไม่สามารถได้รับความร่วมมือจากกองทัพ (Mattarollo 2002) เท่าที่ควร

    เมื่อคณะกรรมการเร็ตทิกปฏิบัติงานแล้วเสร็จ ก็ได้นำข้อเสนอผลสืบสวนความจริงในรายงานฉบับสุดท้ายให้แก่รัฐบาลชิลี และประธานาธิบดีเอลวิน ได้เขียนคำนำแสดงความรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งในบทนำของรายงานและแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์ รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงฉบับนี้เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมชิลีตระหนักกับการยอมรับต่อความรับผิดชอบอันเกิดจากอาชญากรรมในอดีต และเรียกร้องให้มีการชดใช้เยียวยาทางจิตใจและทรัพย์สิน (moral and materials reparation) เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย (Amstutz 2005) ข้อเสนอต่างๆเน้นที่ประเด็นของการเยียวยา การศึกษา การปฏิรูปกฎหมาย และมุ่งหน้าสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับบุคคลสาบสูญให้ชัดเจน (Popkin and Roht Arriaga 1995)

        รายงานฉบับดังกล่าวยังเสนอเกี่ยวกับวิธีการชดใช้ เยียวยาอย่างสร้างสรรค์ในด้านของสุขภาพ การให้การศึกษาและผลประโยชน์ในด้านที่อยู่อาศัยด้วย (Ensalaco 1994) นอกจากนั้นในบางกรณีคณะกรรมการค้นหาความจริงยังเสนอให้รัฐบาลมุ่งให้ความสนใจก่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายด้วย (Bronkhorst 1995) ท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมและโครงสร้างกองทัพทั้งหมดด้วย (Popkin and Roht Arriaga 1995) ผลการค้นหาความจริงทั้งหมดนี้ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการทั้งหมดอย่างเป็นเอกฉันท์ (Hayner 2001)

        คำนำของประธานาธิบดีเอลวิน  ส่งผลให้รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง ถูกนำไปถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในสื่อมวลชนและในวงการของผู้นำทางการเมืองทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มสายกลาง ต่างก็แสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Amgtutz 2005) แม้ว่ารายงานทั้งฉบับของคณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ถูกตีพิมพ์อย่างกว้างขวางทั้งเล่ม (Quinn 2001) แต่ก็ถูกเผยแพร่แทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน (Hayner 2001) และขณะที่กองทัพบกและกองทัพเรือติติงว่า รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาไม่เป็นกลาง และไม่ใช่รายงานฉบับสมบูรณ์ (เนื่องจากเนื้อหาเต็มไปด้วยการตีความไม่ใช่ความจริง) แต่ฝ่ายตำรวจและกองทัพอากาศต่างก็ยอมรับข้อเสนอทั่วไปในบทสรุปของรายงาน (Amstutz 2005)

          ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดโครงการต่างๆที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความปรองดองและการศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ ดังนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (The National Congress) จึงมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการค้นหาความจริงอย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตามปรากฏว่ายังเกิดเหตุการณ์ขบวนการฝ่ายซ้ายติดอาวุธออกปฏิบัติการซุ่มโจมตีนักการเมืองฝ่ายขวาหลายครั้ง รวมถึงมีการฆาตกรรม นายเจมส์ กูซแมน (James Gusman) ผู้นำฝ่ายขวาหลังการเปิดเผยรายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง ส่งผลให้การถกเถียงเกี่ยวกับรายงานการค้นหาความจริงยุติลง (Hayner 2001; Human Right Watch 1991 ; Mattarollo 2002) หลังจากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา ประธานาธิบดีเอลวิน ก็ประกาศเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการปรองดองแห่งชาติของชิลี (Quinn 2001)

         อะไรเป็นสิ่งที่เกิดตามมาจากผลการทำงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง คำตอบ คือ การดำเนินการภายหลังแผนงานโครงการต่างๆ (The Concertacion) รัฐบาลผสมของประธานาธิบดีเอลวิน การออกกฎหมายหลายฉบับตามข้อเสนอของคณะกรรมการเร็ตทิก (Quinn 2001) นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายโดยคำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย (Ensalaco 1994)

            การค้นหาบุคคลสูญหายก็ดำเนินการอย่างเร่งรีบเช่นเดียวกับการเยียวยาและการปฏิรูปกฎหมายบางฉบับ แต่ก็มีข้อเสนออื่นๆที่ไม่ได้รับการพิจารณาก็มีเช่นกัน (Popkino and Roht Arriaza 1995) หน่วยงานที่เกิดขึ้นตามมาหลังคณะกรรมการค้นหาความจริง คือ องค์การความร่วมมือว่าด้วยการเยียวยาและการปรองดองแห่งชาติ (The National Corporation for Reparation and Reconciliation) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1992 เพื่อช่วยขับเคลื่อนข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง (Hayner 1996) องค์การความร่วมมือว่าด้วยการเยียวยาและการปรองดองแห่งชาตินี้ยังได้เสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานคณะกรรมการตรวจการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( a human rights ombudsman) (Ensalaco 1994) เพิ่มขึ้น 

          ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีการออกมาตรการสำคัญหลายอย่างตามมาเพื่อชดเชยแก่เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย โดยคณะกรรมการค้นหาความจริงอนุญาตให้สมาชิกครอบครัวของเหยื่อได้รับการบรรเทาทุกข์จากการขาดการเหลียวแลทางด้านการปกครองและกฎหมาย (administrative and legal limbo) เนื่องจากเหยื่อตกอยู่ในสถานภาพของ “บุคคลหายสาบสูญ” (Ensalaco 1994 ) จากการที่บุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขายังไม่ถูกระบุว่า ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วนั่นเอง ทำให้พวกเขาสูญเสียผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ดังนั้นจึงมีชาวชิลีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่ได้รับเงินชดเชยความเสียหาย (pension) รายเดือนในฐานะสมาชิกของเหยื่อที่ถูกฆ่าตาย หรือหายสาบสูญ ซึ่งคิดรวมเป็นมูลค่าเพียงประมาณ 5,000 US ดอลลาร์ต่อปี (Hayner 2001) แต่สำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกทรมาน หรือถูกคุมขังแบบผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่าด้วยโชคร้ายเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เนื่องจากถูกบังคับด้วยระเบียบอันเข้มงวดของกฎหมาย(Hayner 2001) อย่างไรก็ตาม  รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงและการกล่าวคำขอโทษ (Apology) ของประธานาธิบดีเอลวิน ถือเป็น “จุดเปลี่ยนผ่าน” (turning point) ในการแสดงความนับถือที่มีต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของประเทศชิลี (Hayner 2000 : 352)

            สำหรับกระบวนการลงโทษกองทัพนั้น แม้ว่าจะไม่สามารถถปลดบรรดานายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ แต่รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงก็บังคับให้กองทัพจำเป็นต้องปกป้องการกระทำของตนในช่วงที่พวกเขาว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของกองทัพ (Ensalaco 1994) ปรากฏว่าในช่วงเวลาสั้นๆหลังจากรายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา ส่งผลทำให้ประวัติศาสตร์การควบคุมประเทศโดยกองทัพนั้นสิ้นสุดลงไป อย่างไรก็ดี การยังคงมีอำนาจอยู่ต่อมาของอดีตประธานาธิบดีปิโนเชต เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของคณะกรรมการค้นหาความจริง(Quinn 2001) ครั้นอดีตประธานาธิบดีปิโนเชตถูกควบคุมตัวในกรุงลอนดอนเมื่อค.ศ. 1998 ตามหมายจับของรัฐบาลสเปน อิทธิพลทางการเมืองของเขาจึงค่อยๆลดน้อยลงไปส่งผลให้มีการดำเนินคดีตามตัวบทกฎหมายอย่างมากมายแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศชิลี

           ปฏิกิริยาของสาธารณชนที่มีต่อรายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและหลากหลายผสมผสานกัน อัมสตตช์(Amstutz 2005) ระบุว่าระหว่างที่อยู่ในช่วงของการดำเนินงานนั้น คณะกรรมการค้นหาความจริงมิได้ยึดถือแนวทางตามที่สาธารณชนได้จินตนาการเอาไว้อย่างกล้าหาญ ดังนั้นการดำเนินการค้นหาความจริงของพวกเขาจึงมิได้มีลักษณะเป็นไปตามความต้องการของสาธารณชน เห็นได้จากที่รายงานฉบับนี้  สรุปว่ามีชาวชิลีจำนวนร้อยละ 60-80 เท่านั้น ที่ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการเร็ตทิก (Pion-Berlin 1994) “ขณะที่ชาวชิลีส่วนใหญ่ต่างก็ชื่นชมผลงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงและยกย่องประธานาธิบดีเอลวิน ที่แสดงความเสียใจออกมาอย่างสุดซึ้งและถือเป็นสัญลักษณ์ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของผลการสอบสวนความจริง ส่งผลให้มีความเข้าใจหลายด้านที่แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดต่อกระบวนการปรองดองจากรายงานการเปิดเผยความจริง” (Amstutz 2005 : 155-156) หลังจากการตีพิมพ์รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงออกมาเผยแพร่ไม่นานนัก ปรากฏว่าประชาชนที่เชื่อว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงจะไม่ส่งผลต่อความคืบหน้าของกระบวนการปรองดองกลับมีจำนวนใกล้เคียงกับกลุ่มที่เชื่อมั่นในความคืบหน้าของกระบวนการปรองดอง (Human Right Watch 1991 ) ขณะที่ อัมสตัตช์ (Amstutz 2005) โต้แย้งผลการสืบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริง และเสนอว่าการยอมรับผลรายงานของประธานาธิบดีเอลวินช่วยฟื้นฟูความเชื่อถือของสาธารณชนและช่วยปรับโฉมหน้าของวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเสียใหม่ อันเป็นข้อความที่ส่งผ่านไปเพื่อให้ความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น อัมสตัตช์ (Amstutz) ยังระบุว่าในทางด้านตรงกันข้ามกับความไม่รุนแรงทางการเมืองนั้น ผลการสืบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงได้ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาชัดเจนมากขึ้น ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ปรากฏว่าสาธารณชนมีการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องในอดีตเพียงเล็กน้อย

            นอกจากขอบเขตของปฏิกิริยาดังกล่าวไปแล้วข้างต้น การกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตมักจะถูกความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของประเทศชาติเข้ามาบดบังเสมอ ในขณะที่นักวิชาการบางคนอาจจะตีความเรื่องนี้ว่าเป็นสัญญาณของความสำเร็จในการปรองดอง หรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในทุกระดับ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชนกลับเห็นว่าอดีตไม่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างเพียงพอ ส่วน Hayner (2001) นั้นได้ตั้งข้อสังเกตในค.ศ. 1996 ว่า ชาวชิลีต่างยืนยันว่า กระบวนการปรองดองของพวกเขาประสบความสำเร็จ แต่ยังคงมีความกระอักกระอ่วนใจอยู่มากในการถกเถียงกันในเรื่องอดีต ยิ่งกว่านั้นการตอบสนองของชาวชิลีต่อการจับกุมอดีตประธานาธิบดีปิโนเชต แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวในอดีตของชาวชิลียังไม่ยุติลง “หลังจากการจับกุมอดีตประธานาธิบดีปิโนเชต บาดแผลของอดีตโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อที่หายตัวไปปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ในยุคเริ่มต้นของปี 2000 ยิ่งกว่าในยุคทศวรรษ 1990 เมื่อประเทศชิลีได้ลิ้มรสชาติของระบอบประชาธิปไตย (Amstutz 2005 : 158 )นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีปิโนเชตเดินทางกลับประเทศชิลี

            ประเทศชิลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตประธานาธิบดีปิโนเชตเปรียบเสมือนต้องอยู่บนรถรางกฎหมายของเล่นเด็ก อันเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใดที่จะอยู่เหนือการทำงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงซึ่งพยายามจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน

ความรักชาติ