ตามรอยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2469

บทที่ ๑


บทนำ



๑. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ระหว่างวันที่ ๖ มกราคมถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) และมณฑลพายัพ (แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยาและเชียงใหม่) เป็นเวลา๓๒วัน เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญนานาประการ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังเสวยราชสมบัติได้เพียงปีเศษเท่านั้น

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรีที่ทรงเคยเสด็จฯมณฑลฝ่ายเหนือได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปตั้งแต่ครั้งทรงผนวชในพ.ศ.๒๓๗๖ และเมื่อทรงครองราชย์แล้วในพ.ศ.๒๔๐๙ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระบรมราโชบายตามแบบอย่างพระบรมชนกนาถ เสด็จฯทรงปิดทองสมโภชพระพุทธชินราชและจำลองหล่อพระพุทธชินราชเมื่อพ.ศ.๒๔๔๔ และต่อมาเสด็จฯประพาสต้น เป็นครั้งแรกเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗)

ส่วนมณฑลพายัพนั้นไม่ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดแห่งราชวงศ์จักรีเคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงในขณะครองราชย์ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงเมืองนครเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.๒๔๔๘ ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร



พระราชดำริสำคัญเกี่ยวกับการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพครั้งนั้นถูกยกมากล่าวอ้างอิงในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือพระพุทธศักราช ๒๔๖๙ ซึ่งรวบรวมโดย รองอำมาตย์ตรี กมล มโนชญากร จ่าจังหวัดน่าน ความว่า

“ หัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือเป็นเมืองที่ตั้งมาแต่โบราณกาล บางเมืองบางสมัยถึงได้ใช้ เป็นราชธานีในสยามประเทศนี้ ทั้งประกอบด้วยเป็นเมืองที่มีนักปราชญ์ชั้นเอกเลื่อง ลือนาม....นับว่ายังไม่มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้เสด็จ พระราชดำเนิรไปเลย จริงอยู่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (บางทีพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ไปแล้วแต่เสด็จไปเมื่อยังมิได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตราธิราช เพราะฉะนั้นหาก ครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยังมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นสมเด็จ พระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยัง มณฑลนั้น... ”

การวิจัยครั้งนี้ให้น้ำหนักอยู่ที่การค้นคว้าเกี่ยวกับร่องรอยอันเนื่องด้วยพระราชกรณียกิจในพื้นที่มณฑลพายัพ โดยเฉพาะที่นครเชียงใหม่ ส่วนร่องรอยและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) นั้นจะกล่าวถึงเท่าที่จำเป็น เนื่องจากกำหนดเวลาประทับที่มณฑลพิษณุโลกเพียง ๓ วันเท่านั้น

ผู้วิจัยตั้งคำถามว่าเหตุใด รัชกาลที่ ๗ จึงมิได้เสด็จฯเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัยทั้งๆที่เป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยเฉพาะเมืองสุโขทัยเองก็เป็นชื่อที่พ้องกับพระอิสริยยศก่อนทรงขึ้นครองราชย์ คือกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และพ้องกับนามที่ประทับคือ วังศุโขทัย ขณะเดียวกันกลับประทับที่มณฑลพายัพนานถึง ๑ เดือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีการสำคัญตามจารีตดั้งเดิมของชาวล้านนาคือ พิธีแห่เข้าเมืองกับพิธีทูลพระขวัญนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯให้ไปจัดที่นครเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว

แรงผลักดันสำคัญประการหนึ่งเชิงความสัมพันธ์ระหว่างราชตระกูลในอดีต คือ ราชวงศ์จักรีและเชื้อสายของตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่มีเจ้าหนานทิพช้าง (พญาสุรวฤาชัย) เป็นต้น เชื้อสายของตระกูลเจ้าเจ็ดตน ความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานาน กล่าวคือ

ในพ.ศ. ๒๓๓๗ เจ้ากาวิละ ได้เรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้าและมีโอวาทคำสอน โดยให้มุ่งหมายให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ตั้งแต่เราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไปถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้น ตระกูลเราทั้งหลาย แม้ว่าลูกหลาน เหลน หลีด หลี้ บุคคลใดมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบ กับพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็นข้าม่าน ข้า ฮ่อ ข้ากุลา ข้าแก๋ว ข้าญวณ ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวาย พลันฉิบหายเหมือน กอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัป อย่าได้เกิดได้งอก...ผู้ใดยังอยู่ในโอวาทคำสอนแห่งเราอันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิ จำเริญ ขอให้มีเตชะฤทธี อนุภาพปราบชนะศัตรู มีฑีฆา อายุมั่นยืนยาว

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของงานวิจัยคือ เหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญแก่มณฑลพายัพเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ จนกระทั่งมีการเตรียมการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกก่อนที่จะมีการเสด็จมณฑลอื่นๆในราชอาณาจักร

จากการศึกษาในเบื้องต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประชาชนตามภาคต่าง ๆ รวม ๔ ครั้ง ได้แก่

๑. เสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ระหว่างวันที่ ๖ มกราคม – ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ (๓๒ วัน)

๒. เสด็จฯประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ระหว่างวันที่ ๑๖ เมษายน – ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ (๒๐ วัน)

๓. เสด็จฯประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ระหว่างวันที่ ๑๔– ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ (๑๖ วัน)

๔. เสด็จฯเลียบมณฑลภูเก็ต ระหว่างวันที่ ๒๔ มกราคม – ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ (๑๘ วัน)

ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าพ.ศ. ๒๔๖๙ นั้นเป็นปีแรกที่มีการดุลยภาพข้าราชการออกก่อน

กำหนดโดยให้รับเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญแทน มีการยุบรวมมณฑลต่างๆ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีการตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้ลดลง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นช่วงที่เกิดภัยทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ คุกคามทั่วโลกเรียกว่า ” world depression “ อันเป็นผลสะท้อนจากภาวะสงครามส่งผลให้งบประมาณประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับติดต่อกันมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึงพ.ศ. ๒๔๖๘ ภาวะการเงินของไทยจึงอยู่ในขั้นวิกฤตเรื่อยมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะแก้ไขปัญหาการเงินของประเทศให้รายจ่ายกับรายรับเข้าสู่ดุลยภาพ โดยทรงตัดทอนการใช้จ่ายทุกอย่างลงไป ดังนั้นเริ่มรัชสมัยได้มีการลดจำนวนข้าราชการตามกรม กอง กระทรวงต่างๆ ทรงยุบตำแหน่งที่ไม่จำเป็นพร้อมกับปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก การปลดข้าราชการสมัยนั้น เรียกว่า “สมัยดุลยภาพ” คือลดจำนวนข้าราชการให้น้อยลงทำให้ รายได้ของประเทศได้เกินรายจ่ายเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ใช้นโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยม กล่าวคือดำเนินตามคำแนะนำของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้มีความระมัดระวังเรื่องนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินโดยยึดถือการจัดงบประมาณรายได้และรายจ่ายให้เข้าสู่ดุลยภาพ พยายามสะสมเงินใช้หนี้เงินกู้ให้เพิ่มพูนและเก็บเงินคงคลังไว้ ทำให้รายได้พ.ศ. ๒๔๖๙ เพิ่มขึ้นเพราะการขยายตัวทางการค้า และผลผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และป่าไม้มีผลการประกอบการดีติดต่อกัน ในพ.ศ.๒๔๗๐ รายได้สูงกว่าพ.ศ.๒๔๖๙ เป็นจำนวน ๑๔,๔๔๖,๖๒๐ บาท เพราะดีบุกมีราคาสูงขึ้น พ.ศ.๒๔๗๑ ยอดงบประมาณรายได้สูงกว่าปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นจำนวน ๗๗,๓๘๙ บาท เพราะผลประโยชน์ป่าไม้เพิ่มขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งแห่งการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลพายัพที่ผ่านมากว่า ๘๐ ปี อาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องภัยแล้ง กล่าวคือ

ในพ.ศ. ๒๔๖๙ มีหลักฐานจากใบบอกมณฑลอยุธยา เกี่ยวกับปัญหาฝนแล้งปรากฏขึ้นโดยทั่วไป ระบุว่าราษฎรได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างพระพุทธรูปคันธราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อทำการสักการะบูชาตามตำบลต่างๆ เพื่อกระทำพิธีพรุณศาสตร์ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมณฑลพายัพเองก็ประสบปัญหาฝนแล้งด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังพยายามที่จะอธิบายถึงบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ เนื่องด้วยยังไม่มีการศึกษาสำรวจเส้นทางการเสด็จฯ การศึกษาวัตถุสิ่งของอันเนื่องมาจากการเสด็จฯ รวมทั้งยังไม่มีการสัมภาษณ์บุคคลและนักวิชาการที่มีความเกี่ยวข้อง

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งของสำคัญที่สืบเนื่องและเกี่ยวข้องกับการเสด็จฯจำนวนหนึ่งได้สาบสูญไปโดยมิอาจติดตามร่องรอยได้ สิ่งของบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างรู้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนของพระราชทานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรับเสด็จนั้นน่าจะกลายเป็นสิ่งของมรดกตกทอดในวงศ์ตระกูลที่มิอาจเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้อาจป็นจุดเริ่มต้นของการชี้เบาะแสต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ในอนาคตของพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นได้

การเสด็จฯประพาสมณฑลพายัพของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระบรมโอรสาธิราช เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๘ ส่งผลกระทบที่ตามมาคือ มีการก่อตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัย ซึ่งก่อให้เกิดคุณูปการทางด้านการศึกษาและการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างส่วนกลางกับเมืองนครเชียงใหม่ รวมถึงผลกระทบทางด้านอักษรศาสตร์ วัฒนธรรมการแต่งกายเป็นต้น การเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ.๒๔๖๙ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้างนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง



๒ วัตถุประสงค์ในการศึกษา

๑) ศึกษาและอธิบายถึงสาเหตุของการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ ๗

๒) ศึกษาสภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและ วัฒนธรรมร่วมรัชสมัย



๓ สมมติฐาน

การเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลฝ่ายเหนือพุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นการเสด็จฯตรวจราชการด้วยพระองค์เอง และเป็นการผูกใจอาณาประชาราษฎร เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินพระบรมราโชบายทางการเมือง



๔ วิธีการดำเนินการค้นคว้าวิจัย

๑) การศึกษาค้นคว้าเป็นแบบวิเคราะห์เชิงพรรณา (descriptive analysis) ศึกษาเอกสารชั้นต้น (primary sources) จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารที่เก็บในห้องสมุดสำนักราชเลขาธิการ ภายในพระบรมมหาราชวัง เอกสารจดหมายเหตุและหนังสือที่ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งการค้นคว้าในศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา ภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒) ศึกษาจากเอกสารชั้นรอง (secondary sources) ที่มีผู้ศึกษารวบรวมไว้แล้ว ได้แก่ จดหมายเหตุการณ์เสด็จเลียบฯมณฑลฝ่ายเหนือ วิทยานิพนธ์ ราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์เก่า หนังสือ วารสาร บทความ ตลอดจนเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

๓) ศึกษาจากภาพถ่ายเก่า และภาพยนตร์ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์ในคราวเสด็จฯ เลียบ

มณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ (จำนวน ๑๑ ม้วน ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มีสำเนาซีดีของภาพยนตร์ม้วนที่ ๔ ,๕ ,๖ และ ๙ รวมอยู่ในแผ่นเดียวกัน ภาพยนตร์ม้วนที่๑ และ ๓ ยังเป็นฟิล์มภาพยนตร์เก็บรักษาเพื่อการอนุรักษ์อยู่ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ส่วนภาพยนตร์ม้วนที่ ๒ และ ๗ ยังไม่พบหลักฐาน สำหรับภาพยนตร์ม้วนที่ ๑๐ และ ๑๑ ทางหอภาพยนตร์แห่งชาติ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ

๔) ศึกษาจากการสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง



๕. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑) รายงานการวิจัยเกี่ยวกับพระปกเกล้าศึกษา ๑ ฉบับ

๒) ภาพถ่ายจากงานวิจัยเผยแพร่ในศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา

๓) เป็นข้อมูลสำหรับบทความวิชาการ ปรับปรุงและจัดนิทรรศการถาวรและหมุนเวียน

๔)เป็นข้อมูลสำหรับโครงการทัศนศึกษาตามรอยเส้นทางเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพในโอกาสต่อไป









๖. สำรวจวรรณกรรม

เอกสารชั้นต้นที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

๑)หลักฐานใบบอกมณฑลพายัพที่ ๕๗๘ ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐

สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ ขอพระราชทานกราบทูลถึง นายพลเอก

สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ความว่า

“...หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนิน กลับมาจากมณฑลพายัพก็ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชวังขึ้นที่ เชียงใหม่ให้ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง เพื่อเป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถเวลาเสด็จมา ประทับที่เชียงใหม่...”

๒) เอกสารกระทรวงมหาดไทยสมัยรัชกาลที่ ๗ รหัสไมโครฟิล์ม ม.ร.๗ม/๕๒ รหัสเอกสาร ร.๗ม.๓๐ เรื่องมณฑลพายัพ : ขายทอดตลาดคุ้มเจ้าหลวงนครลำปาง (๒๔ มิ.ย. ๒๔๖๙ -๒๖ ก.ย. ๒๔๗๐)รหัสไมโครฟิล์ม ม.ร.๗ ค/๑ รหัสเอกสาร ค.๑/๓ เรื่องยุบมณฑล ๔ มณฑล ( ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘) ม.ร. ๗ บ๑.๔/๑๘ ม้วน ๘

๓) เอกสารหมวดเบ็ดเตล็ด เรื่อง หนังสือพิมพ์รายวันข่าวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ๒๒ ม.ค.- ๔ก.พ. ๒๔๖๙ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกในมณฑลพายัพ รายงานเหตุการณ์ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

๔) เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รหัสไมโครฟิลม์ ม.สบ.๒/๓๔ สบ.๒.๔๖(๑-๑๑) กล่อง๑-๕ เรื่องแผนกหัวเมืองฝ่ายเหนือ

หลักฐานชั้นรองที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

๑) จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือพระพุทธศักราช ๒๔๖๙

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๔ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ผู้รวบรวม คือ รองอำมาตย์ตรีกมล มโนชญากร จ่าจังหวัดน่าน โดยรวบรวมจากข่าวที่ประกาศเป็นทางราชการ และรายงานของจังหวัดที่ได้จัดการรับเสด็จ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยบัญชาของพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดีพิริยพาหะ (อวบ เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น พระราชปรารภในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ การเตรียมการก่อนเสด็จ พระราชกรณียกิจต่างๆ ระหว่างการเสด็จฯ ได้แก่ การพระราชทานพระบรมราโชวาท การพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองแพร่ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน การพระราชทานธงแก่กองลูกเสือมณฑลพายัพ การสมโภชช้างพลายสำคัญ การเสด็จฯเยี่ยมราษฎร เยี่ยมโรงเรียน และโรงพยาบาล ตลอดจนการสมโภชพระบรมธาตุสำคัญประจำเมืองต่างๆ

๒) จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

และนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๙. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช

๒๕๑๐. มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและนคร

เชียงใหม่ โดยเน้นให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนครเชียงใหม่เป็นหลัก อาทิ พิธีฟ้อนรับเสด็จพิธีทูล

พระขวัญ และพิธีการสมโภชช้างที่นครเชียงใหม่ เป็นต้น

๓)จดหมายเหตุพระราชกิจราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น (วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘- วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๗๑) กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, ๒๕๓๗. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกิจรายวันในการเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ระหว่างวันที่ ๖ มกราคม- ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นเวลา ๓๒ วัน และมีการสรุปเหตุการณ์สำคัญในแต่ละวัน

๔)ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัช

กาลที่ ๗ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาศพระบรมราชสมภพ ครบ ๑๐๐ ปี พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๓๖. ให้ข้อมูลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ พ.ศ.๒๔๖๙

๕)พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิ

บายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานแจกเนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งพระองค์ได้พระราชนิพนธ์คำนำ ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินด้วย

๖) หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

๗) ดารารัศมี:พระราชประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวบรวมโดยนงเยาว์ กาญจนจารี

จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฉลองพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ณ กองกำกับ

การตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๕ ค่ายดารารัศมี จังหวัดเชียงใหม่ วันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม,

๒๕๓๓ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระราชชายาเจ้าดารารัศมี.

๘) ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน ที่ระลึกในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ๙

ธันวาคม ๒๕๔๒. พิมพ์โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,พิมพ์ครั้งที่๒ ธันวาคม ๒๕๔๗.

ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชโทรเลข และพระ

ราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕

๙) เพ็ชร์ลานนา เรียบเรียงโดย ปราณี ศิริธร.จัดพิมพ์ที่เชียงใหม่ : นอร์ทเทิร์น พริ้นติ้ง ,

๒๕๓๘.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายเหนือ เกร็ดความรู้ ความเชื่อ เรื่องราวปกิณกะต่างๆ

ของคนในล้านนาสมัยเก่า และเป็นบันทึกความทรงจำคนในล้านนา

๑๐) พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าโดย สุวิทย์ ไพทยวัฒน์ (บรรณาธิการ)กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิ

ราช ๒๕๓๘.ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้านายและข้าราชบริพารใกล้ชิดในพระบาท

สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

๑๑) งานวิจัยเรื่อง นโยบายเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย

ชูศรี มณีพฤกษ์ เสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า,๒๕๕๐. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายในการ

บริหารประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่หัวขึ้นอยู่กับการพิจารณา

ของอภิรัฐมนตรีสภา แม้ว่าจะทรงเป็นประธานแต่การกำหนดนโยบายเป็นไปตามความ

เห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุม ดังจะเห็นได้จากกรณีการกำหนดมาตรการก้ไขปัญหาการคลัง

และการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา

๑๒) วิวัฒนาการเศรษฐกิจหมุ่บ้านในภาคเหนือของประเทศไทยพ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๕.

โดยชูสิทธิ์ ชูชาติ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,๒๕๒๓

๑๓) การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.

๒๔๓๙-๒๔๗๕ โดย ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชา

ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๑

๑๔)การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๘๔ โดยพูนพร พูลทาจักร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขา

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร

๒๕๓๐.

๑๕) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในล้านนากับการก่อตัวของสำนึกท้องถิ่น พ.ศ.

๒๔๕๙ – ๒๔๘๐ โดย วศิน ปัญญาวุธตระกูล” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหา

บัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

อธิบายเกี่ยวกับมณฑลมหาราษฎร์ว่าเป็นมณฑลที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๙

เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วยเริ่มตะหนักถึงความสำคัญของดินแดนต่างๆใน



ล้านนานอกเหนือจากเชียงใหม่ โดยการรวมเมืองลำปาง แพร่ น่าน เข้าไว้ด้วยกัน

ซึ่งแยกมาจากมณฑลพายัพ แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการยกเลิกมณฑลมหาราษฎร์และผนวกกลับเข้าไปรวมกับมณฑลพายัพเช่นเดิม ในพ.ศ.๒๔๖๘ และกล่าวว่า

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ นั้น ทรงมีความพยายามจะลดบทบาทของบริษัท

ป่าไม้ของชาวต่างประเทศ อาทิ ชาวอังกฤษ

๑๖) เศรษฐกิจสยาม บทวิเคราะห์ในพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ดุษฎีบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนีองค์แรกของสยาม โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าชายนักเศรษฐศาสตร์ที่มีเชื้อสายมาจากเจ้านายทางล้านนา และ

เนื้อหาของวิทยานิพนธ์เรื่อง เกษตรกรรมในสยามของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระโอรส

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

๑๗) เสด็จลานนา และ ล้านนา...เมื่อตะวา โดย บุญเสริม สาตราภัย นักเขียนและช่างภาพอาวุโสของล้านนาให้ข้อมูลภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนสภาพสังคมวัฒนธรรมเชียงใหม่ในอดีต

๑๘) บทความเรื่อง “รัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจตกต่ำและเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ” โดย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ในวารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๒ (เมษายน ๒๕๔๒) หน้า ๖๔-๗๓.

๑๙) ย้อนหลังบางแง่มุมในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จัดพิมพ์โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.กรุงเทพฯ: กุลการพิมพ์,๒๕๔๓ ให้

ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ

๒๐) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐--๒๔๗๗) โดย ทัศนีย์

ดวงรัตน์ ภาคนิพนธ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ๒๕๒๒

โดยกล่าวถึงสภาวะทางการเมืองก่อนและหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่๗

รวมทั้งสาเหตุทีทำให้เศรษฐกิจตกต่ำในสมัยรัชกาลที่ ๗ การดำเนินการแก้ไขปัญหาและ

ผลที่ตามมา

๒๑) บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย

ชาญชัย รัตนวิบูลย์ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ๒๕๑๙.



สื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้องการเสด็จฯเลียบมณฑลพายัพ

๑) การเสด็จประพาสต้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๕.๑๒ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว (วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จประพาสต้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสต้นแบบสามัญชนส่วนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเทคโนโลยีทางด้านการถ่ายภาพและกิจการของหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน พระองค์จะเสด็จประพาสต้นปะปนกับสามัญชนจึงเป็นไปได้ยาก แต่พระองค์ก็โปรดที่จะเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ เชียงแสน ชลบุรี อยุธยา ฯลฯ การเสด็จประพาสต้นเพื่อสำราญพระอิริยาบถ ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและสนทนากับชาวบ้านโดยไม่ถือพระองค์แต่ประการใด เช่น ทรงพายเรือ และรวมเสวยพระกระยาหารแบบสามัญ

๒) ช้างพลายสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๗ เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๓.๕๓ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว (วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีสมโภชช้างพลายสำคัญ ณ เชียงใหม่ ช้างพลายเผือกเชือกนี้ชื่อพังหล้า ตกฟากเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ณ ตำบลแม่ยางมิ้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นเศวตกุญชร มีมงคลลักษณ์ตรงตามตำราว่าเป็นปทุมหัตถี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า “พระเศวตคชเดชดิลก” และโปรดเกล้าฯให้นำมาสมโภชขึ้นระวาง ณ พระนครในกาลต่อไป

๓) ปอยหลวง เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๓.๕๖ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว (วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานปอยหลวงที่จัดกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม งานปอยหลวงนี้จะมีความรื่นเริงอยู่ที่การจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน หรือเรียกว่าแห่ครัวทาน เรื่องนี้เป็นการจัดงานปอยหลวงหน้าพระที่นั่งเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลฝ่ายเหนือ

๔) พระธาตุหริภุญชัย เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๓.๓๐ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว (วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพพระราชกรณียกิจเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประพาสนครลำพูน ทั้งสองพระองค์เสด็จเป็นประธานในพิธีสมโภชพระธาตุหริภุญชัยอันเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวลำพูน โดยทรงเวียนเทียนเพื่อสมโภช และสรงน้ำพระธาตุ พระธาตุหริภุญชัยนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระเจดีย์สูง ๕๑ เมตร รอบองค์พระธาตุล้อมด้วยรั้วเหล็กเตี้ยๆ ปิดทองฉลุลวดลายทั้งสี่มุม

๕) พระราชพิธีรับและขึ้นระวางช้างสำคัญ ตอนที่ ๑ เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๓.๔๙ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว (วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๐ ได้นำช้างพลายจากเชียงใหม่มาถึงบางปะอิน ซึ่งเรียกว่า “พิธีธนนชัยบาทพราหมณ์ของช้าง” ต่อจากนั้นนำช้างพลายจากบางปะอินมาถึงกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟถึงสถานีจิตรลดา และแห่ไปยังโรงช้างพระราชวังดุสิต ตอนท้ายเป็นพระราชพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีอัน ได้แก่ การหลั่งน้ำพระราชทาน การเจิมพระราชทานอ้อยแดงจารึกนาม “พระเศวตคชเดชดิลก” การแต่งเครื่องพระองค์และการแห่สลากภัตถวายพระสงฆ์

๖) พระราชพิธีรับและขึ้นระวางช้างสำคัญ ตอนที่ ๒ เยาวนันท์ เชษฏฐรัตน์ กรุงเทพฯ โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย แผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ๗.๑๘ นาที เสียง ขาว-ดำ ¾ นิ้ว

(วีดิทัศน์)

หลักฐานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯทอดพระเนตรขบวนแห่เพื่อสมโภชช้างพลายหลังจากที่ช้างพลายมาถึงสถานีจิตรลดาแล้ว อันประกอบด้วยขบวนแห่สลากภัต ขบวนนักเรียนขบวนทหาร ซึ่งจัดให้มีมหรสพถึง ๓ วัน ๓ คืน









๗. คำสำคัญ

หนังสือเทศาภิบาลในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายลักษณะของการเทศาภิบาล ดังนี้

มณฑลเทศาภิบาล หมายถึงการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ อันประกอบด้วยตำแหน่งราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค เป็นสื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลซึ่งอยู่ในราชธานี ให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากรเพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุข และเกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งสลายหลังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการแบ่งเขตการปกครองโดยมีขนาดลดหลั่นกันลงไปจากมณฑล เมือง จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีการจัดแบ่งหน้าที่ราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ เพื่อมิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน

มณฑล หมายถึง การรวมเขตจังหวัดตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไปมากบ้างน้อยบ้างสุดแต่พลเมืองมากน้อยให้เป็นความสะดวกแก่การปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลจัดเป็นมณฑลหนึ่ง และการตรวจตราของผู้บัญชาการมณฑล ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ข้าหลวงใหญ่” (hign commissioner) เมื่อจัดการปกครองโดยระบอบเทศาภิบาลแล้ว โปรดเกล้าฯให้เรียกข้าหลวงใหญ่ว่า “ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล” เป็นตำแหน่งรองจากเสนาบดีเจ้ากระทรวงและเหนือผู้ว่าราชการเมืองและข้าราชการพนักงานทั้งปวงในมณฑลนั้นๆ

มณฑลที่มีอยู่ก่อนพ.ศ. ๒๔๓๗ มี ๖ มณฑล ได้แก่ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลนครราชสีมา และมณฑลภูเก็ต

มณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ มี ๖ เมือง คือ ๑) นครเชียงใหม่ ๒) นครลำปาง ๓) นครลำพูน ๔) นครน่าน ๕) แพร่ ๖) เถิน ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่นครเชียงใหม่

ในหนังสือเรื่องคำอธิบายเรื่องเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า

“หัวเมืองมณฑลพิษณุโลกแลมณฑลนครสวรรค์ตั้งแต่ปากน้ำโพธิขึ้นไป แต่โบราณเรียกรวมกันว่า “ เมืองเหนือ” คำที่เรียกอย่างนี้เห็นจะเกิดขึ้นแต่ดึกดำบรรพ์ถึงครั้งพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา ด้วยครั้งนั้นแผ่นดินแบ่งกันเป็น ๒ ราชอาณาจักร พระเจ้าธรรมราชาลิไทยในราชวงศพระร่วงครองกรุงสุโขทัยเป็นใหญ่ข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ข้างฝ่ายใต้ ประชาชนทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นไทยด้วยกัน แต่อยู่จ่างอาณาจักรเป็นต่างพวกกัน พวกกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกพวกไทยที่อยู่ในราชอาณาจักรของราชวงศ์พระร่วงว่า “ชาวเหนือ” พวกกรุงสุโขทัยก็เรียกพวกไทยที่อยู่ในราชอาณาจักรของพระเจ้าอู่ทองว่า “ชาวใต้” แลเรียก ๒ ราชอาณาจักรนั้นว่า “เมืองเหนือ” แล “เมืองใต้” เป็นเดิมมา สันนิษฐานว่ามูลเหตุจะเป็นดังกล่าวนี้ ครั้นเมื่อ ๒ ราชอาณาจักรนั้นรวมกันตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ การปกครองก็เป็นอย่าง ๒ อาณาจักรต่อมากว่า ๒๐๐ ปี ชื่อที่เรียกว่าเมืองเหนือเมืองใต้จึงใช้กันต่อมาจนถึงเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเลิกวิธีปกครองหัวเมืองเหนืออย่างเป็นอาณาจักรต่างหาก ลดลงเป็นแต่หัวเมืองขึ้น ๗ เมือง ชื่อที่เรียกรวมกันว่าเมืองเหนือก็ยังคงเรียกอยู่อย่างเดิม เหตุด้วยหัวเมืองเหล่านั้นอยู่ไกลจะไปมากับราชธานีต้องเดินทางตั้งเดือน อย่างเรียกกันว่า ‘อยู่สุดหล้าฟ้าเขียว’ เพราะฉนั้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีพระเจ้าแผ่นดินน้อยพระองค์ที่จะได้เสด็จขึ้นไปถึงเมืองเหนือ มาถึงขั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ราชธานียิ่งห่างลงมาทางใต้ ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่สาม จึงหาได้เสด็จขึ้นไปประพาสถึงเมืองเหนือไม่ แต่เมื่อรัชกาลที่๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาล ได้ทรงพระอุสาหะเสด็จธุดงค์ขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เสด็จไปถึงเมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร์ เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก แลเมืองอุตรดิษฐ์ ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เจ้านายในกรุงเทพฯนี้ได้เสด็จขึ้นไปเมืองเหนือในเวลาบ้านเมืองเปนปรกติ ... เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปเมืองเหนืออีกครั้งโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ก็ได้โดยเสด็จด้วยในคราวนั้น...ถึงรัชกาลที่๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นประโยชน์ในการเสด็จประพาสเหมือนอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงเสด็จประพาสตามหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตรที่สามารถจะเสด็จได้เนืองนิจ ดูเหมือนจะได้เสด็จทั่วทุกเมืองไม่มีเว้น แลยังทรงพระอุสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองถึงนานาประเทศก็หลายคราว ว่าฉะเพาะเมืองเหนือได้เสด็จฯ ๓ ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔ ) คือคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์พระราชหัตถเลขาเสด็จโดยรถไฟไปเพียงพระราชวังบางปะอิน แต่นั้นทรงเรือพระที่นั่งเก๋ง เรือกลไฟจูงขึ้นไปตามลำแม่น้ำจนถึงเมืองฝางข้างเหนือเมืองอุตรดิษฐ์เป็นที่สุดทาง

ครั้งที่ ๒ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) เมื่อทางรถไฟทำขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์แล้ว เสด็จโดยทางรถไฟขึ้นไปถึงปากน้ำโพธิ์ แต่นั้นทรงเรือแม่ปะเป็นเรือพระที่นั่ง ถ่อขึ้นทางลำน้ำพิงจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชรเป็นที่สุดทาง

ครั้งที่ ๓ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)เสด็จโดยทางรถไฟจนถึงเมืองนครสวรรค์ แล้วทรงเรือพระที่นั่งล่องน้ำลงมาเข้าปากน้ำมะขามเถ้า ประพาสทางลำน้ำเมืองสุพรรณบุรี

มณฑลพายัพ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ โดยมีชื่อเรียกว่า "มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ" อีกหนึ่งปีถัดมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ เพื่อให้คล้องจองกับชื่อมณฑลอีสานประกอบด้วย ๓ หัวเมือง ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองลำพูน

มณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลที่แบ่งออกจากมณฑลพายัพในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ มีพื้นที่ครอบคลุมทางด้านตะวันออกของมณฑลพายัพเดิม ได้แก่ เมืองเชียงราย เมืองพะเยา เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองลำปาง

มณฑลพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย (จังหวัดอุตรดิตถ์) และเมืองสวรรคโลก

สมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ได้ตั้งมณฑลขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง คือ มณฑลมหาราษฎร์ ได้แบ่งท้องที่มาจากมณฑลพายัพ มี ๓ จังหวัด คือ ๑) ลำปาง ๒) น่าน ๓) แพร่ ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลที่ จังหวัดลำปาง เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๘

ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ การปกครองส่วนภูมิภาคคงมี “มณฑล” ซึ่งมีสมุหเทศาภิบาลอันเป็นผู้รับผิดชอบดูแลราชการส่วน “จังหวัด” ที่ขึ้นอยู่ในมณฑลนั้นๆทำนองเดียวกับที่ได้เคยเป็นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น การปกครองที่จัดแบ่งราชอาณาจักรออกเป็น “ภาค” มี “อุปราช” กำกับดูแลนั้น จึงเลิกไปในต้นรัชกาลที่ ๗ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘ ประกาศยุบมณฑล ๔ มณฑล คือ ๑) มณฑลมหาราษฎร์ ๒)มณฑลสุราษฎร์ ๓) มณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบลราชธานี ๔)ยุบจังหวัดกบินทรบุรี ยกอำเภอเมืองกบินทร์และอำเภออรัญประเทศมาขึ้นจังหวัดปราจีนบุรี และคงเหลือ มณฑลต่างๆ ในขณะนั้น รวม ๑๔ มณฑล ด้วยกัน คือ

๑) กรุงเทพพระมหานคร ๒) มณฑลอยุธยา

๓) มณฑลนครราชสีมา ๔) มณฑลอุดร

๕) มณฑลปราจีน ๖) มณฑลพิษณุโลก

๗) มณฑลพายัพ ๘) มณฑลราชบุรี

๙) มณฑลภูเก็ต ๑๐) มณฑลนครศรีธรรมราช

๑๑) มณฑลปัตตานี ๑๒) มณฑลจันทบุรี

๑๓) มณฑลนครชัยศรี ๑๔) มณฑลนครสวรรค์

ต่อมารัชกาลที่๗ ทรงปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอีกในพ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องจากบ้านเมืองต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ดังนี้

(๑) ยกเลิกภาคต่างๆที่แบ่งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ โดยสิ้นเชิงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น

(๒) โปรดให้รวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เช่น รวมมณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์เข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เรียกว่ามณฑลพายัพ รวมมณฑลอุบลราชธานีกับมณฑลร้อยเอ็ดเข้ากับมณฑลราชสีมา รวมมณฑลนครชัยศรีเข้ากับมณฑลราชบุรี รวมมณฑลนครสวรรค์เข้ากับมณฑลอยุธยา เว้นแต่จังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชรให้ยกไปขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก และยุบมณฑลปัตตานีรวมเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นต้น









































บทที่ ๒

สาเหตุของการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ หลังจากนั้นเพียงปีเศษ ก็เสด็จฯเลียบหัวเมืองฝ่ายเหนือ และมณฑลพายัพ จดหมายเหตุการเสด็จพระราชดำเนิน ระบุชัดว่าพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อทอดพระเนตรสภาพของบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร และความสำคัญอีกประการคือยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จพระราชดำเนินไปมณฑลพายัพมาก่อน ดังข้อความต่อไปนี้

“...เป็นโอกาสให้ทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมือง ทรงทราบความเป็นไปอันเนื่องด้วยสุขด้วยทุกข์ ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรทั่วไป ได้ทรงพบเห็นสิ่งต่างๆมากอย่างสำหรับจะได้นำมาเป็นเครื่องทรงพระราชดำริดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัย ผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไป และพยายามให้ดียิ่งๆขึ้นสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาติ พระราชจรรยาเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกาธิราช ได้ทรงกระทำเป็นเยี่ยงอย่างอันดีมาแล้ว ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำเยี่ยงอย่างอันดีมาแล้ว พระบรมเชษฐาธิราช ก็ได้ทรงพระราชนิยมในการเสด็จพระราชดำเนินตามหัวเมืองมณฑลเช่นเดียวกัน ผลของการเสด็จพระราชดำเนินปรากฏว่า มีแต่กระทำให้ราชการบ้านเมืองทวีความเจริญในทางก้าวหน้าเมื่อดังนี้จึงเป็นการสมควรยิ่งที่จะทรงอนุวัตรตามพระราชจรรยาดังเช่นสมเด็จพระบรมชนกาธิราชและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ทรงประพฤติเป็นทิฏฐานุคติมาก่อนแล้วนั้น ทั้งเป็นการแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระบรมชนกาธิราช และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชด้วยอีกส่วนหนึ่ง...



ผู้วิจัยพยายามหาคำตอบในเบื้องต้นว่า สาเหตุสำคัญของการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพเกิดขึ้นจากแรงผลักดันหลายๆปัจจัยดังนี้







๒.๑ ความเจริญทางการคมนาคม เส้นทางการค้า และเทคโนโลยีต่างๆ

การคมนาคม

การสร้างทางรถไฟสายเหนือเริ่มในพ.ศ. ๒๔๔๔ ใช้เวลา ๖ ปี ทางรถไฟจึงไปถึงพิษณุโลก ต่อมาการก่อสร้างชะงักไปหลายปีจนกระทั่งพ.ศ. ๒๔๕๙ จึงสร้างถึงลำปาง และในพ.ศ. ๒๔๖๔ ทางรถไฟจึงไปถึงเชียงใหม่เป็นสถานีสุดท้ายของรถไฟสายเหนือ การสร้างทางรถไฟถึงเชียงใหม่ในช่วงแรกเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อข้าราชการไทย นักธุรกิจต่างชาติและมิชชันนารี แต่ชาวบ้านได้รับประโยชน์โดยตรงน้อยมาก ในด้านการค้าปรากฏว่ารถไฟนำสินค้าเข้าไปมากกว่านำสินค้าออก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสินค้าที่สำคัญที่สุด คือ ไม้สัก นอกจากนั้นมีสินค้าอื่นๆไม่มากนัก ในช่วงแรกค่าใช้จ่ายสำหรับเที่ยวล่องจึงไม่คุ้มค่านัก ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งจึงมีสินค้าพื้นเมืองส่งออกไปมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือข้าว

การปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทางบกดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น เมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟมาสู่เชียงใหม่เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญของเส้นทางคมนาคมทางบกที่จะรองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารของรถไฟไปยังสถานที่ที่ไกลจากสถานีรถไฟ ดังนั้นเมื่อเส้นทางรถไฟสายเหนือมาถึงสถานีเด่นไชย ในจังหวัดแพร่พ.ศ. ๒๔๕๕ ทำให้มีการปรับปรุงเส้นทางเกวียนจากเด่นไชยไปยังตัวเมืองแพร่ให้มีสภาพดีพอสำหรับรถยนต์ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเส้นทางลำปาง-เชียงรายเนื่องจากเห็นผลประโยชน์การค้าระหว่างชายแดนของพม่า จีน และไทย คือ ยูนนาน เชียงตุง กับเชียงรายและลำปาง

หลังจากทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่ในปีพ.ศ. ๒๔๖๔ แล้ว พ่อค้าหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทนทางเรือ เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่สามารถบรรทุกสินค้ามากกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า

รายงานตรวจราชการมณฑลพายัพใน สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๓ กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ ดังนี้

“...พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเอื้อเฟื้อกับข้าพระพุทธเจ้ามากที่สุด...ที่ดอยสุเทพมีตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และบ้านหม่อมเจ้าบวรเดชไปตั้งอยู่แล้ว และบ้านฝรั่งอีกหลายราย น้ำบริบูรณ์กว่าขุนตาลเป็นอันมาก บนดอยมีดอกกุหลาบงามเหลือเกิน ดอกขนาดใหญ่ราวดอกบัวสัตตบงกช...”

พระนิพนธ์รายงานของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ทูลเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แสดงพระราชดำริในข้อราชการต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องราวทางสังคมแล้วยังทรงระบุถึงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างเมืองแพร่ไปยังเมืองน่าน อันสรุปได้ดังนี้

๑) สามัคคีระหว่างพลเมืองชาวเหนือชาวใต้

๒) พวกแม้วและเย้า ซึ่งเป็นพวกที่กีดขวางความเจริญของบ้านเมือง

๓) จรรยาของข้าราชการ ทรงติวาจาใช้แก่พลเมืองว่า เอ็ง กู ฯลฯ

๔) การแบ่งเขตจังหวัด ฯลฯ ทรงเห็นว่ายังน้อย ...น่าที่ของนายอำเภอมากเหลือเกิน ทรงแนะทางผ่อนมอบการติดตามผู้ร้ายแก่ตำรวจภูธร

๕) การเกณฑ์จ้างเป็นเครื่องมีผลให้ราษฎรอย่างไม่ยุติธรรม

๖) โรงเรียนรัฐบาลยังแพ้โรงเรียนมิชชันนารีอยู่มากเพราะขาดความตั้งใจบำรุง

๗) คนจรจัดซึ่งเนรเทศมามณฑลนี้ ทำความเสียหายให้แก่พลเมืองมาก

๘) ทรงเห็นควรบำรุงน้ำซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก

๙) ทรงเห็นน่าจะโรยหินหลวงทั้งหมดที่ทำไว้

๑๐) ควรทำถนนจากแพร่ไปน่านเพราะยังไม่มีถนนไปถึงเลย

๑๑) กราบบังคมทูลเรื่องมณฑลภาคนี้ยังไม่มีพระแสงราชศัสตราเลย

จากรายงาน ๑๑ ข้อ ให้ข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

ในมณฑลพายัพก่อนสมัยรัชกาลที่ ๗ และข้อสุดท้ายที่กล่าวว่ามณฑลภาคพายัพนี้ยังไม่มีพระแสงราชศัสตราเลยด้วยเหตุนี้จึงอาจมีส่วนผลักดันทำให้สมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริถึงความจำเป็นที่จะต้องเสด็จฯไปพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

หลังจากรถไฟสายเหนือเปิดบริการถึงสถานีเด่นชัยตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๕๕ (๘ ปีต่อมา) และมีการเสด็จตรวจมณฑลพายัพของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา (๑๕ ธ.ค. ๒๔๖๓) (หจช.ร.๖ม.๒๗/๑๐) ดังนี้

“... ที่ตำบลเด่นใจ (เด่นชัย) นี้รู้สึกว่าอาจจะครึกครื้นเป็นเมืองอยู่บ้างแล้ว มีท่าทีจะขยายตัวขึ้นอีกได้ นอกจากนั้นสถานีเด่นใจมีผู้มาตั้งโรงสีข้าว และโรงเลื่อยไม้ขึ้นด้วย...โดยโรงเลื่อยไม้แห่งนี้ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วส่งไปตามบ้านเรือนโดยคิดเงินจากบ้านเรือนเหล่านั้น...”

พระนิพนธ์รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นความเจริญของเด่นชัยที่ทำให้บรรดาพ่อค้าชาวจีนที่เคยอยู่ที่เมืองแพร่โยกย้ายมาอยู่บริเวณสถานีเด่นชัย หลังจากการเข้ามามีบทบาททางคมนาคมของทางรถไฟสายเหนือ





๒.๒ ด้านเศรษฐกิจทรัพยากรและการขยายตัวของพ่อค้าชาวจีน

เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่อมาเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยากและวิกฤตเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำในประเทศสยาม เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้สินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศขาดแคลน การค้าระหว่างประเทศชะงักงัน การเงินฝืดเคืองเกิดขึ้นทั่วไปภายในประเทศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกนั้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะชาวนาเพาะปลูกข้าวเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ ราคาข้าวได้ตกต่ำลงมามากถึง ๒ ใน ๓ และราคาที่ดินลดลง ๑ ใน ๖ ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันก็ไม่มีเงินที่จะเสียภาษีอากรซึ่งภาษีหลักก็คือ”เงินรัชชูปการ” ปีละ ๖ บาท และค่าอากรที่นา ทำให้ประชาชนมีหนี้สินและเกิดการว่างงานสูง สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีดังต่อไปนี้

(๑) การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้หลายประเทศต้องเข้าร่วมสงคราม ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆชะงักงันเพราะต่างหันไปผลิตอาวุธสงครามแทน เมื่อสินค้าจากโรงงานผลิตไม่พอเพียงกับความต้องการทำให้สินค้ามีราคาแพง สถานะความเป็นอยู่และการครองชีพของประชาชนได้รับความเดือดร้อน เมื่อสงครามสงบก็ต้องซ่อมบูรณะสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย ประเทศที่แพ้สงครามก็ต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนมาก

(๒) ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้กรรมกรว่างงานมีการใช้เครื่องจักร

แทนแรงงานคน ทำให้ค่าจ้างแรงงานต่ำกระทบการดำรงชีพของประชาชน เมื่อสงครามสงบลงก็หันมาพัฒนาด้านอุตสาหกรรมภายในประเทศ จนทำให้สินค้าล้นตลาด ขายไม่ออกส่งผลต่อประเทศเกษตรกรรมไม่สามารถขายสินค้าทางการเกษตรได้ ประเทศอุตสาหกรรมไม่มีเงินซื้อ ประเทศเกษตรกรรมก็ไม่มีเงินซื้อสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้นานาประเทศเกิดภาวะฝืดเคือง โรงงาน ร้านค้าและธนาคารล้มละลายเป็นจำนวนมาก กรรมกรประท้วงไม่ทำงาน เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อประเทศต่างๆเกิดความวุ่นวายและเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้กระทบต่อประเทศสยามตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ และหนักมากขึ้นในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ ในสมัยนี้เองมีการแก้ไขปัญหาด้วยการปลดข้าราชการออกหรือยุบหน่วยงานนั้น

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการดำเนินนโยบายประนีประนอมกับชาวจีน การต่อต้านชาวจีนโดยเน้นเรื่องเชื้อชาติและการปลุกกระแสชาตินิยมหมดไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ชาวจีนไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีอย่างใด และการใช้พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบบังคับให้มีการผสมกลมกลืนระหว่างชาวไทยกับชาวจีนไม่ได้ผลดีเท่ากับวิธีการปล่อยให้ผสมกลมกลืนกันเองโดยธรรมชาติ

ดังเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯเลียบมณฑลพายัพและนครเชียงใหม่ สมุหเทศาภิบาลกราบบังคมทูลเบิกพวกพ่อค้าจีนจังหวัดเชียงใหม่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบพ่อค้าจีนที่ เชียงใหม่ ความว่า



“...เราได้ฟังถ้อยคำของท่านทั้งหลายซึ่งกล่าวอวยชัยให้พรเราพร้อมทั้งพระราชินี กระทำให้เป็นที่จับใจเรายิ่งนัก เพราะนอกจากเป็นเครื่องสำแดงอัธยาศัยไมตรีหวังดีต่อเราให้ปรากฏส่วนอันที่จริง ความสัมพันธ์ในระหว่างคนไทยกับจีนนี้จะพึ่งมีขึ้นในบัดนี้หรือในเร็ววันนี้หามิได้ ได้มีมาแต่ครั้งโบราณกาลนมนานมาแล้ว ถึงแม้ไทยกับจีนจะไม่ใช่ชนชาติเดียวกัน แต่เพราะไทยกับจีนได้ไปมาค้าขายทำการติดต่อกันมาด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาช้านานจนสนิทชิดเชื้อเป็นอย่างกันเอง อาศัยความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนี้และเป็นเหตุจูงใจคนไทยมีตัวเราเป็นอาทิ ให้บังเกิดความรักใคร่นับถือจีนเสมอเหมือนพี่น้องหรือมิตร์สหายของไทยทีเดียว อีกประการหนึ่งเล่า ประชาชนชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งเคหสถานและประกอบการอาชีพอยู่ในเมืองไทยก็ได้ทำความเจริญแก่ประเทศสยามเป็นเอนกประการ พยานหลักฐานที่แลเห็นได้ง่ายซึ่งควรหยิบยกขึ้นอ้างในที่นี้นั้น ก็เช่นการกสิกรรมและพาณิชการซึ่งพวกท่านได้จัดทำอยู่ในบัดนี้เป็นตัวอย่าง ทั้งในบางครั้งบางสมัยจีนยังได้เป็นกำลังช่วยเหลือราชการบ้านเมือง ตลอดถึงช่วยในการกุศลสาธารณประโยชน์อย่างอื่นๆอันเป็นเครื่องสนับสนุนเพิ่มพูนความเจริญแห่งชาติให้สำเร็จลุล่วงไปก็ยังมีอีกมากมาย

ท่านทั้งหลายจงมั่นใจเถิดว่า คนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แม้จะแตกต่างกับคนไทยก็แต่เพียงชาติกำเนิดเท่านั้น แต่ในส่วนสิทธิอำนาจอันชอบธรรมซึ่งคนจีนควรจะพึงมีพึงได้แล้วคนจีนจะไม่แตกต่างกับคนไทยเลยตัวเราพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของเราได้พยายามอยู่แล้วอย่างเต็มที่ที่จะให้คนจีนได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ความยุตติธรรม ความพิทักษ์รักษา และความเสมอภาคฯลฯ เท่าเทียมกับคนไทยผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐานบ้านเมืองเหมือนกัน

วันนี้ท่านทั้งหลายถือว่าเป็นศุภวารดิถีอภิลักขิตกาลตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางฝ่ายจีนโดยจันทรคตินิยม ได้พรักพร้อมกันมาสโมสรสันนิบาต ณ ที่นี้อวยชัยให้พรเรา ฉะนั้นในนามแห่งคนไทยและชาติไทยมีตัวเราเป็นประมุข เราขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยไมตรีหวังดีต่อตัวเราพร้อมพระราชินี จงดลประสิทธิ์ในจตุรพิธพรทั้งสี่ ประสพแต่สิ่งเป็นศรีศุภมงคลสวัสดิ์ นิราศไร้สรรพภัยพิบัติอุปัทวันตราย ประกอบการค้าขายวัฒนาสถาพรโดยลำดับเป็นนิตย์นิรันดร์ เทอญ”



พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบพ่อค้าชาวจีนข้างต้นบ่งชี้ว่าทรงตระหนักถึงปัญหาคนจีนในสยามเป็นอย่างดี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการใช้ลัทธิชาตินิยมต่อสู้กับอิทธิพลของคนจีน ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่าอยากเห็นการผสมผสานระหว่างคนไทยกับคนจีน รวมทั้งจะปฏิบัติต่อคนจีนเช่นเดียวกับคนไทย ทั้งนี้เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมของคนทั้งสองเชื้อชาติที่มีมาแต่อดีต พระองค์ทรงเห็นว่าการดำเนินมาตรการเช่นนี้จะทำให้คนจีนมีความรู้สึก “เป็นคนไทย” และจงรักภักดีกับแผ่นดินสยามเช่นเดียวกับแผ่นดินเกิด จะเห็นได้จากความสืบเนื่องต่อมาในรัชสมัยของพระองค์มิได้ออกพระราชบัญญัติใหม่ๆเกี่ยวกับคนจีนอีก ยกเว้นพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการอพยพการเข้ามาของคนจีนมิให้มีจำนวนมากเกินไป



๒.๓ พระบรมราโชบายทางการเมืองและการปกครอง

๒.๓.๑ รัฐประศาสโนบายตามรอยพระบรมชนกนาถ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพเทิดทูนและศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถเป็นอย่างยิ่ง ในพระราชนิพนธ์คำนำของหนังสือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดิน รัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดฯให้จัดพิมพ์ขึ้นในวันคล้ายวันสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงไว้ว่า จากการอ่านพระราชดำรัสนั้นแล้วเมื่อพระองค์กลับมาจากทวีปยุโรปในพ.ศ. ๒๔๖๗ ทำให้พระองค์เกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระบรมชนกนาถ ดังหลักฐานในข้อความต่อไปนี้

“ เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านพระราชดำรัสนี้แล้ว รู้สึกว่าเป็นหนังสือสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเพิ่มพูนความเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถ และพระบารมีของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยิ่งขึ้นอีกทั้งทำให้ความรัก และนับถือในตัวพระองค์ซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่แล้วเต็มหัวใจให้หนักแน่นเต็มตื้นมากขึ้นอีกด้วย...

...พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง...ทรงพระราชดำริโดยรอบคอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทยเราและของต่างประเทศประกอบกันด้วยพระปรีชาญาณอันยวดยิ่ง ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองเป็นลำดับมาล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเวลา ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป ... พวกเราผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีความจงรักภักดีและรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอยู่ทุกขณะจิต ควรตั้งใจดำเนินตามรอยพระยุคลบาทตามแต่จะทำได้ ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน ใน ๒ อย่างนี้ก็พอจะทำได้ มียากอยู่แต่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไป อย่าให้เร็วเกินไป ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก นอกจากมีสติปัญญาแล้วยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย ”

ความเลื่อมใสศรัทธาในพระปรีชาสามารถของพระชนกนาถดังทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินรัฐประศาสโนบายคล้ายคลึงกับพระบรมชนกนาถหลายประการ ดังการให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครอง และการฟื้นฟูบทบาทของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน รวมทั้งการเสด็จฯเลียบมณฑลต่างๆในพระราชอาณาจักรและการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นสมัยของการกลับไปสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (a return to Chulalongkorn) ประกอบกับพระราชอัธยาศัยที่มีความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ และเคารพนับถือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่พระองค์มีพระชันษาน้อยกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงทั้งหลายเมื่อทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติทรงมีพระชนมายุ๓๒พรรษา นอกจากนี้ยังทรงตระหนักดีว่าพระองค์ทรงมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารประเทศน้อย ทำให้มีพระประสงค์ที่จะขอคำแนะนำจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองและการคลังมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ทรงมีความไว้วางพระราชหฤทัยในพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ความว่า

“...ฉันเองได้รับความสบายใจจากข้อที่ว่า เจ้านายต่างแสดงพระองค์ว่ารักชาติ ไม่มีพระองค์ไหนที่ทรงคิดถึงอะไร นอกจากประโยชน์ของชาติ ไม่มีเจ้านายพระองค์ไหนทรงคิดจะได้ดีแก่พระองค์เองเลย ทุกๆพระองค์ทรงมีพระทัยแต่จะช่วยเหลือฉัน ทรงทำดีต่อฉันอย่างมากมายที่สุด ฉันจึงรู้สึกว่าถ้าพระราชวงศ์ยังจะทรงคิดได้เช่นนั้นแล้ว ประเทศสยามและพระราชวงศ์จักรีจะคงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่าจะประสบความลำบากเพียงใดก็ตาม...”

ลักษณะการปกครองของไทยในสมัยโบราณ นอกจากพระมหากษัตริย์จะทรงดำรงฐานะเป็นผู้นำในการปกครองประเทศแล้ว ในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามยังทรงดำรงตำแหน่งผู้นำทางการทหาร ในฐานะจอมทัพผู้เข้มแข็งกล้าหาญอีกด้วย หากจะพิจารณาความหมายของคำว่า "พระมหากษัตริย์" แล้ว ตามรูปศัพท์ "กษัตริย์" หมายถึงนักรบ "มหา" หมายถึงยิ่งใหญ่ คำว่า "พระมหากษัตริย์" จึงหมายถึง "นักรบผู้ยิ่งใหญ่" และในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้คืออาวุธในการต่อสู้ฟาดฟันปราบปรามข้าศึก อาวุธสำคัญของนักรบคือดาบ นักรบกับดาบจึงเป็นสิ่งคู่กันเสมอมา โดยไม่อาจแยกความสำคัญของสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกจากกันได้ และด้วยฐานะความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่คงไว้ซึ่งพระราชอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนสมมุติเทพนั้น จึงมีการใช้ราชาศัพท์เพื่อยกย่องพระองค์ให้แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญมากที่สุด คำราชาศัพท์เรียกอาวุธสำคัญประจำพระองค์พระมหากษัตริย์คือ "พระแสงราชศัสตรา" นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปอีกหลายอย่าง เช่น พระแสงราชศัสตรา พระแสงราชศัสตราวุธ พระแสงราชาวุธ หรือพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ เป็นต้น เนื่องจากพระแสงราชศัสตรามีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงปรากฏธรรมเนียมว่าเมื่อใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงราชศัสตราให้แก่เจ้านายหรือขุนนางผู้หนึ่งผู้ใด มีความหมายว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ให้บุคคลผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่างๆ แม้จนกระทั่งสามารถตัดสินพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นสูงสุด คือสั่งประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทราบความก่อน

เอกสารเรื่อง “เจ้าลาวลงมาเฝ้า” (วันที่ ๒๗ ธ.ค. - ๑๒ ม.ค. ๒๔๖๘) มีเนื้อหาสำคัญ ๒ ประเด็น คือ ประเด็นแรกเป็นเรื่องเจ้าพระยายมราชทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

ใจความเป็นเรื่อง มหาอำมาตย์โท เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้านครเชียงใหม่ กับมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้านครลำพูนลงมาเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ เจ้าพระยายมราช จึงได้กราบบังคมทูลว่าโปรดให้เฝ้าวันใดที่ใด รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชกระแสตอบว่า

“การที่เจ้านครทั้งสองจะเข้าเฝ้านั้น ควรนำเฝ้าเหมือนข้าราชการหัวเมืองธรรมดา ถ้าจะเข้าเฝ้าพิเศษ เช่น มีของถวาย ให้นำเฝ้าที่พระที่นั่งบรมพิมาน ก่อนเสด็จลงทรงธรรม “

ประเด็นที่สองเป็นเรื่องที่เจ้าพระยายมราชทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ใจความเป็นเรื่อง เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านลงมาเพื่อขอเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ เช่นเดียวกันกับเจ้านครเชียงใหม่และเจ้านครลำพูน รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชกระแสตอบว่า

“ ให้เฝ้าอย่างเจ้านครเชียงใหม่ เวลา ๖ ล.ท. (หลังเที่ยง) วันที่ ๑๕ มกราคม.”

จากเอกสารดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าเป็นธรรมเนียมที่เจ้าหัวเมืองประเทศราชจะต้องมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เพื่อแสดงความจงรักภักดี เพราะหลังจากนั้นถัดไปอีกประมาณไม่ถึงเดือน ทางพระราชสำนักที่กรุงเทพฯ มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ และอีกหนึ่งปีถัดมา ระหว่างวันที่ ๖ มกราคม – ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ก็เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ทั้งนี้การเสด็จฯ ส่วนหนึ่งคงอาจจะเกี่ยวข้องกับรัฐประศาสโนบายเรื่องจะคิดให้ลาวในมณฑลพายัพกลับเป็นคนไทย ด้วยประการหนึ่ง ดังหลักฐานเอกสารที่เจ้าพระยามหิธร กราบทูล

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ความว่า

“ตามลายพระหัตถ์ที่ ๓๒๑/๒๓๗๗๒ ลงวันที่ ๑๐ เดือนนี้ (๑๐ มีนาคม ๒๔๖๘) ว่า

นายวู๊ด กงสุลเยเนราลอังกฤษประจำเชียงใหม่ รายงานการที่ข้าหลวงอังกฤษประจำเมืองเงี้ยวเข้ามาเที่ยวในพระราชอาณาเขตต์รู้สึกปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามได้รับรองเป็นอย่างดี กับว่าได้ทรงรับหนังสือทูตอังกฤษอันกล่าวถึงบันทึกของเสอร ฮารคอรตบัตเลอรในเรื่องรัฐประศาสโนบายอังกฤษในการปกครองเมืองเงี้ยวว่าอังกฤษไม่ได้ปกครองโดยตรง เป็นแต่แนะนำให้พวกเจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองดำเนินการปกครองไปตามแบบธรรมเนียมเดิม และกล่าวถึงเรื่องการทำถนนทางแถบเหนือพระราชอาณาเขตต์ว่าเป็นการสำคัญนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงมีพระราชปรารภว่า ที่อังกฤษอธิบายยืดยาวเช่นนั้น ประสงค์จะให้เราเอาอย่างบ้างสำหรับเมืองลาวหรืออย่างไร เป็นสิ่งที่น่ารู้มากว่า เจ้าฟ้าเงี้ยวปกครองเองได้เพียงไร และมีผลอย่างไร ส่วนรัฐประศาสนของเราเวลานี้ ก็ต้องการให้ “ลาวเป็นไทย” ตามมูลชาติ ซึ่งถ้าจะให้ถูกแท้แล้ว สกุลที่เรียกว่าสกุลเจ้าลาวก็ควรถือเป็นสกุลไทยอันมีชื่อเสียงอันหนึ่ง”

๒.๓.๒ การประกาศพระราชอำนาจผ่านการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน “พระแสงราชศัสตราประจำเมือง”แก่บรรดาหัวเมืองในคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนืออย่างเป็นทางการ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์แตกต่างจากหลักการเดิมที่เคยมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราหรือเรียกว่าพระแสงดาบอาญาสิทธิในรัชกาลก่อนหน้านั้น กล่าวคือ เดิมเป็นการพระราชทานไว้เป็นประจำแก่บุคคลซึ่งภายหลังกลายเป็นดาบประจำตระกูลประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งพระราชทานเป็นการชั่วคราวเฉพาะกิจเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจต้องกราบบังคมทูลถวายคืน แต่ในสมัยรัชกาลที่๕ ทรงมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในการปกครองแผ่นดินตลอดจนทรงกำหนดให้ใช้สำหรับแทงน้ำในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมืองเป็นสำคัญ มิได้หมายให้อำนาจเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเหมือนดังเช่นกาลก่อน ส่วนผู้รับพระราชทานอาจเป็นสมุหเทศาภิบาล หรือผู้ว่าราชการเมืองเป็นเพียงผู้แทนของมณฑลหรือเมืองในการรับพระราชทานเท่านั้น (ลักษณะรูปแบบของพระแสงจะมีข้อแตกต่างกันระหว่างจังหวัดดังนี้ หากเป็นที่ว่าการมณฑลจะเป็นพระแสงด้ามทองฝักทองลงยาราชาวดี จังหวัดนอกเหนือจากนั้นเป็นพระแสงด้ามทองฝักทอง) นอกจากนี้ยังพระราชทานหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อใดที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมและประทับแรม ณ เมืองนั้นอีก ให้ผู้ว่าราชการเมืองทูลเกล้าฯถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้ประจำพระองค์ ตราบจนเมื่อใดจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ จึงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้แก่จังหวัดนั้น ๆ ดังเดิมนอกจากจะพระราชทานพระแสงราชศัสตราแล้ว ยังหลักฐานในการเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างเสมาเงินเป็นรูปพระจุลมงกุฎกับอักษรพระนามไว้พระราชทานเป็นที่ระลึกสำหรับเด็กชายหญิงตามหัวเมืองที่เสด็จประพาสด้วย (เสมาตราพระจุลมงกุฎกับอักษรพระนามนี้โปรดให้สร้างด้วยทองคำ สำหรับพระราชทานแก่หม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการที่ตามเสด็จครั้งนั้นด้วย)

การพระราชทานพระแสงราชศัสตราดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ต่างทรงยึดถือ และปฏิบัติตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถในเวลาต่อมา

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงมีพระราชประสงค์ในการพระราชทานพระแสงราชศัสตราให้แก่บรรดาจังหวัดต่างๆ ที่พระองค์เสด็จเยือน โดยมี กระทรวงวัง ทำหน้าที่ประสานงานกับจังหวัด เพื่อตระเตรียมซักซ้อมในพิธีการรับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง ดังนี้

ขั้นตอนการพระราชทานพระแสงราชศัสตราสมัยรัชกาลที่ ๗

๑. ผู้ว่าราชการเมือง เชิญดอกไม้ธูปเทียน (ดอกไม้นั้นนั้นคือเครื่องบูชายิ่ง ๕ อย่างได้แก่ ๑) หญ้าแพรก ๒)เมล็ดพรรณผักกาด ๓) ดอกมะลิ ๔) ข้าวตอก ๕) ข้าวสาร โดยเย็บเป็นกระทง ๕ ช่องบรรจุช่องละสิ่งในกระทงเดียวกัน ) ไปเฝ้ากราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จเข้าเขตเมืองแล้วตามเสด็จพระราชดำเนินมาในขบวนจนถึงเมืองหรือพลับพลา ซึ่งมีราษฎรเฝ้าพระราชทานพระแสง

๒. ที่มุขหน้าพลับพลา มีการจัดตั้งโต๊ะที่บรรจุคำถวายชัยมงคล ๑ โต๊ะ ตั้งราวพาดพระแสงสำหรับเมื่อพระราชทานแล้วจะได้เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ๑ โต๊ะ โต๊ะใหญ่ตั้งดอกไม้ธูปเทียนของข้าราชการ ๑ โต๊ะ พวกชาวจีนจัดกิมฮวยอั้งติ๋ว ประดับบนโต๊ะใหญ่อีก ๑ โต๊ะ ถัดจากโต๊ะข้าราชการ และกำนันผู้ใหญ่บ้านพ่อค้าราษฎรยืนเฝ้า มีเทศาภิบาลหรือผู้ว่าราชการเมืองเป็นหัวหน้า

๓. เมื่อเสด็จประทับมุขพลับพลา สมุหเทศาภิบาลเปิดกระทงดอกไม้ และนำข้าราชการกราบถวายบังคม แล้วจึงเปิดที่บรรจุคำถวายชัยมงคลนำคำถวายชัยมงคลออกอ่านถวาย ขั้นตอนถัดไปเป็นการพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานพระแสงราชศัสตรา เมื่อสมุหเทศาภิบาลรับพระแสงแล้วเชิญขึ้นไว้บนราวพระแสงแล้ว ต้องกราบบังคมทูลแสดงความยินดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โห่”ไชโย” ถวายชัย ข้าราชการตลอดจนราษฎรรับโห่ด้วยคำว่า“ไชโย”ตลอดจนจนกว่าสมุหเทศาภิบาลได้เชิญพระแสงขึ้นประดิษฐานบนราวแล้วจึงหยุด และระหว่างโห่ไชโยนั้น พิณพาทย์ต้องบรรเลงเพลงสาธุการ และพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาด้วย

๔. เมื่อเสด็จลงจากพลับพลาแล้ว ต้องเชิญพระแสงราชศัสตรานี้ไปตั้งไว้เป็นที่ประทับเป็นเครื่องราชูปโภค และต้องมอบหมายมหาดเล็กผู้เป็นเจ้าหน้าที่ไว้ เวลาเสด็จออกจากเมืองจะได้พระราชทานคืนมารักษาไว้ประจำเมือง เวลาเสด็จมายังเมืองที่ได้พระราชทานพระแสงนั้นเมื่อใด ต้องเชิญพระแสงทูลเกล้าฯถวาย และเมื่อเสด็จกลับจะได้พระราชทานคืนดังนี้เสมอไป

ต่อมาสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะทรงธำรงสืบทอดธรรมเนียมโบราณราชประเพณี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมเนียมโบราณราชประเพณีสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศเป็นสวัสดิมงคล ความสมัครสมานสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติ เฉพาะธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับพระแสงราชศัสตราประเมืองถือเป็นธรรมเนียมโบราณราชประเพณีหนึ่ง ที่ทรงมุ่งหมายจะรักษาไว้แก่แผ่นดิน กล่าวคือในการเสด็จแปรพระราชฐาน หรือเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีสำคัญ ณ จังหวัดใด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จังหวัดที่มีพระแสงราชศัสตราประจำเมืองไว้แต่กาลก่อน ทูลเกล้าถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองไว้ประจำพระองค์ จนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับจึงพระราชทานคืนตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่เดิม

ปัจจุบันถึงแม้ว่าการเมืองการปกครองของไทยจะเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงธำรงซึ่งความสำคัญเช่นเดิม ด้วยทรงเป็นองค์พระประมุขและเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร พระแสงราชศัสตรายังคงมีความหมายและความสำคัญ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์อยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ารัชกาลปัจจุบันจะมิได้มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สืบสานธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันดีงามแต่กาลก่อน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บรรดาจังหวัดที่เคยได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้ประจำพระองค์ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน หรือในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ ณ จังหวัดนั้น ๆ และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ จึงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้แก่จังหวัดนั้น ๆ ดังเดิม นับว่าเป็นธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันดีงามที่ยังคงปรากฏอยู่คู่แผ่นดินไทยตราบจนปัจจุบัน

๒.๔ การเสด็จฯทอดพระเนตรและการสมโภชช้างพลายสำคัญ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว มิสเตอร์ ดี. เอฟ. แมคฟี ผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งโทรเลขมากราบบังคมทูลว่า ช้างพังหล้า สูง ๗ ฟุต ๔ นิ้ว ตกลูกเป็นช้างเผือกที่ป่าแม่ยางมิ้ม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมคชบาลขึ้นไปดูที่เมืองเชียงใหม่ ได้ความว่าเป็นช้างเผือกถูกต้องตามลักษณะทุกประการ เนื่องจากช้างยังเล็กอยู่ จึงโปรดฯให้เลี้ยงไว้ที่เมืองเชียงใหม่ก่อน เพราะถ้าจะนำมาสมโภชตามราชประเพณีในพระนครก็เกรงว่าช้างจะชอกช้ำในการเดินทางซึ่งคงจะไม่สะดวกนัก ดังนั้นในคราวเสด็จฯเลียบมณฑลพายัพ และนครเชียงใหม่จึงเสด็จฯไปทอดพระเนตรช้าง เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๖๙ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“...ในหลวงทรงเครื่องยูนิฟอร์มทหารบกเหมือนท่านอมรทัต (หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร) สมุหราชองครักษ์ และทรงยืนอยู่ด้วยกันที่นอกคอกช้างอยู่ พอเปิดคอกให้เดินออกมาเฝ้า ช้างนั้นก็ตรงไปยกงวงขึ้นแตะหัวอันเป็นกิริยาไหว้ของช้างที่ตรงในหลวงโดยเฉพาะ ไม่ใช่ท่านอมรทัต ทุกคนที่อยู่ในนั้นต้องหัวเราะว่ารู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นในหลวง เพราะจะสอนให้ช้างดูพระบรมรูปได้นั้นออกจะเกินไป เชื่อได้ยาก…”

ในกรณีนี้ จดหมายเหตุการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลพายัพระบุว่า

ต่อมาในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ จึงทรงโปรดฯให้มีงานสมโภชช้างพลายสำคัญ เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีไว้ในโรงช้างซึ่งอยู่ตรงหน้าที่ประทับ ตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระชัยวัฒน์เงินหลังช้าง ตั้งพระเต้าปทุมนิมิตน้อยทองเงิน พร้อมด้วยเครื่องนมัสการทองทิศ ตั้งอาสนสงฆ์ ทอดพระราชอาสน์และเก้าอี้ที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านใต้โรงช้างปลูกปะรำ และปักเต็นท์รูปไข่เป็นที่ให้ข้าราชการเฝ้า ส่วนที่พลับพลาทองทอดพระราชอาสน์ ตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไว้พร้อมเสร็จ พอจวนเวลาแล้ว เจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมช้างต้น ได้จัดกระบวนแห่ช้างจากที่พักเชิงดอยสุเทพเข้ามาในเมือง

เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จฯออกพลับพลาทอง โปรดเกล้าฯ ให้เดินกระบวนแห่นำช้างพลายสำคัญพร้อมด้วยลิงเผือก (ลิงเผือกตัวที่นักโทษชื่อนายหนอมให้บิดามารดาน้อมเกล้าฯถวายคราวเสด็จเมืองพิษณุโลก) เข้าสู่โรงพิธีสมโภช กระบวนแห่มีช้างดั้ง ช้างนำ ช้างตาม พลเดินเท้าถือเครื่องอาวุธ เมื่อช้างพลายสำคัญเข้าสู่โรงสมโภชแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จจากพลับพลาโดยทางลาดพระบาทไปยังโรงช้าง ทหารบกราบที่ ๘ กองเกียรติยศกระทำวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนไตรย่ามแก่พระสงฆ์ ๒๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระนครทางรถไฟ อีก ๑๐ เดือนต่อมาช้างพลายสำคัญก็เดินทางสู่กรุงเทพฯด้วยทางรถไฟและมีพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ณ พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชทานพระนามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลก

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับงานสมโภชครั้งนี้ว่า

“งานนี้ใหญ่โต เพราะโปรดให้ฟื้นฟูตามแบบเก่าขึ้น มีแห่สลากภัตไปเลี้ยงพระ มีการเล่นเกือบทุกชนิดในสนาม พวกฝรั่งสนุกกันมาก เพราะได้ดูงานอย่างไทยจริงๆ เมื่อขึ้นระวางเป็นช้างพระที่นั่งแล้ว ก็อยู่ในโรงซึ่งปลูกคู่กันไว้กับ พระเศวตวชิรพาหของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในสวนดุสิตนั้น”

จึงอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ คือ ความเจริญทางการคมนาคมการขยายเส้นทางถึงสถานีเชียงใหม่ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ พระบรมราโชบายทางด้านการเมืองการปกครอง และการเสด็จเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ อาทิ การพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

บทที่ ๓

การเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพพุทธศักราช ๒๔๖๙



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ปรากฏในหลักฐานพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๙ พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพว่า

“ด้วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงทำรายการสังเขปการจัดรับเสด็จในการที่หม่อมฉันจะไปมณฑลพายัพมาให้ดู หม่อมฉันขอมอบถวายให้ท่านทรงดำริห์กะวันและเวลาประทับกับอำนวยการจนตลอด ให้ทรงติดต่อและสั่งการงานแก่เจ้าหน้าที่ได้โดยทางบรมราชโองการตามแต่จะเหมาะแก่กาละและเรื่อง ได้ถวายรายการสังเขปมาพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว เพื่อท่านจะได้ทรงดำริห์เสียแต่บัดนี้ไป”



ในบทนี้ผู้วิจัยจะกล่าวถึง การเตรียมการวางแผนกะระยะทางและงบประมาณในการ

เสด็จฯ เส้นทางของการเสด็จฯ และการเตรียมการรับเสด็จฯ ซึ่งจะทำให้สามารถแลเห็นเหตุ

การณ์ที่เกิดขึ้นและเบื้องหลังของเหตุการณ์บางส่วนที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารทางราชการ ดังต่อไปนี้

๓.๑ การเตรียมการเสด็จฯ

เมื่อได้รับพระราชหัตถเลขาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวดังข้อความข้าง

ต้น หลังจากนั้นประมาณ ๑ สัปดาห์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงมีพระหัตถเลขาทูลพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับพระราชประสงค์ ดังพระหัตถเลขาฉบับนี้ยืนยันให้เห็นบทบาทเบื้องหลังการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของสมเด็จฯกรมพระดำรงราชานุภาพและพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นอย่างดี กล่าวคือ

“ด้วยพระเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาหม่อมฉันถึงเรื่องที่จะเสด็จมณฑลพายัพปลายปีนี้ *

หม่อมฉันเห็นว่าการไปมาเดี๋ยวนี้สะดวกผิดกับแต่ก่อนมาก พิธีการที่เคยรับเสด็จเจ้านายมาแต่ก่อน เช่นแห่เสด็จเข้าเมืองดูถวายเป็นการเล่นไปเสียแล้ว น่าจะต้องคิดกระบวนการ รับเสด็จเป็นอย่างใหม่ให้ประเพณีเก่าเข้ากับสมัยปัจจุบันนี้ได้ หม่อมฉันใคร่จะปรึกษาผู้ ซึ่งชำนาญการพิธีอย่างเก่าของเมืองเชียงใหม่ ก็ไม่เห็นมีใครนอกจากพระโอษฐ์ของเจ้าป้า (พระราชชายา-ผู้วิจัย) จึงคิดว่าขึ้นไปเชียงใหม่ไปทูลหารือเรื่องนี้ ทั้งจะได้เป็นโอกาสตรวจ ตราโบราณวัตถุที่เมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนด้วย ปีนี้อายุหม่อมฉันจะเท่าพระชันษา พระชนก-จอม-หัว จะรอพอทำบุญวันเกิดแล้ว (วันพระราชสมภพ ๒๑ มิถุนายน –ผู้วิจัย) วันพุธที่ ๒๓ มิถุนายนจะออกจากกรุงเทพฯ ไป ถึงเมืองเชียงใหม่ วันที่ ๒๔ พัก อยู่ เมืองเชียงใหม่จนวันที่ ๒๙ กลับมากรุงเทพฯ จึงทูลมาให้ทรงทราบเรื่องที่พัก อาหารเลี้ยงท้องจากเจ้าป้า ผู้ที่ไปด้วยเห็นจะสัก ๔-๕ คนด้วยกัน แต่ทางเทศานั้น หม่อมฉันบอกเขาว่า จะไปตรวจโบราณวัตถุ หวังใจว่าที่เมืองเชียงใหม่จะสิ้นฤดูร้อนเพราะฝนตกแล้ว



ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสด็จฯขึ้นไปเมืองเชียงใหม่เพื่อตระเตรียมการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑ สัปดาห์

ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีพระหัตถเลขาตอบกลับมา ความว่า



“ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม หม่อมฉันเพิ่งได้รับเมื่อเมล์แล้วนี้เอง มีความยินดี มากที่จะเสด็จขึ้นมา การรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว หม่อมฉันยังรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพราะยังไม่เคยที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นมาเลย สมเด็จชายก็มาทรงกะไว้บ้างแล้ว ว่าจะมีแห่ ส่วนเครื่องสูงจะเอาขึ้นมาจากกรุงเทพฯ แล้วจะตกลงกันอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ที่จะเสด็จขึ้นมาคราวนี้เจ้าหลวงอยากให้ ประทับที่บ้านของท่าน ส่วนเครื่องหม่อมฉันรับฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเต็มใจ เชิญท่านหญิงใหญ่ ท่านพูน ท่านพิลัย เจ้านายเล็กๆเหล่านั้นขึ้นมาด้วย หมู่นี้หม่อมฉันเงียบเหลือเกินอยากหาคนคุยด้วย ต้องขอประทานโทษที่ไม่ได้ถามข่าวเรื่องท่านทรงวุฒิสิ้นพระชนม์ หม่อมฉันพึ่งทราบจากพระยาเพ็ชร์เมื่อได้รับลายพระหัตถ์แล้วนี่เอง หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้อ่าน ขอทูลถามข่าวมีความเสียใจอย่างมาก อากาศที่เชียงใหม่เวลานี้ ฝนมีบ้าง แต่ร้อนยังไม่หาย”

บทบาทของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในการเตรียมการรับเสด็จฯยังปรากฏในพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง ตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็น “Lord High Programme “

“...เสด็จพ่อจึงเสด็จขึ้นไปปรึกษาโครงการรับเสด็จกับเจ้านายทางมณฑลพายัพ มีพระ ราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าเชียงใหม่อินทรวิชยานนท์ ซึ่ง พระบิดานำมาทูลเกล้าฯถวายให้เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชชายาก็ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน พวกเรารู้จักคุ้นเคยกับท่าน อย่างดีและเห็นว่าเป็นผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถ ฉลาดเฉลียวในพวกชั้นเอกคน หนึ่ง พระราชชายามีพระธิดาองค์หนึ่งกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแต่สิ้นพระชนม์ เสียแต่พระชันษา ๙ ปี ท่านจึงมีแต่พวกหลานๆอยู่ด้วย ผู้ใดอยากรู้เรื่องทางเชียงใหม่ ก็มีพระราชชายาพระองค์เดียวที่จะตอบได้ถูกต้องถี่ถ้วน ทั้งในทางพงศาวดารและ ขนบธรรมเนียม และในการรับเสด็จครั้งนี้ ที่สำเร็จไปได้อย่างวิเศษดีก็เพราะท่านเป็น ผู้จัดการ ข้าพเจ้าจะไม่ลืมถึงงานคราวนี้เลย เพราะงดงามจับใจเป็นอย่างยิ่ง...”



หลักฐานการวางแผนระยะทางที่จะกะโปรแกรมเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและ

มณฑลพายัพนั้นเป็นไปด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ดังเอกสารของกระทรวงพาณิชย์แลคมนาคม

ซึ่งพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน กราบทูล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ

ดำรงราชานุภาพเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๙ เกี่ยวกับระยะทางของแต่ละเมืองที่คา

ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ดังต่อไปนี้

(๑) แต่สวรรคโลกใหม่ถึงสวรรคโลกเก่า ระยะ ๑๐ กิโลเมตร

(๒) แต่สวรรคโลกเก่าถึงสุโขทัย “ ๓๙ กิโลเมตร

(๓) แต่สุโขทัยใหม่ถึงสุโขทัยเก่า “ ๑๑ กิโลเมตร

(๔) แต่อุตรดิษฐ์-พระแท่น-ลับแล-อตรดิษฐ์ “ ๒๒ กิโลเมคร

(๕) แต่เด่นไชยถึงแพร่ “ ๒๕ กิโลเมตร

(๖) แต่ลำปางถึงเมืองงาว “ ๘๗ กิโลเมตร

(๗) แต่เมืองงาวถึงเมืองพะเยาว์ “ ๕๓ กิโลเมตร

(๘) แต่เมืองพะเยาว์ถึงเมืองพาน “ ๔๘ กิโลเมตร

(๙) แต่เมืองพานถึงเมืองเชียงราย “ ๔๖ กิโลเมตร

(๑๐) แต่เชียงรายถึงเชียงแสนใหม่ “ ๒๗ กิโลเมตร

(๑๑) แต่เชียงแสนใหม่ถึงเชียงแสนเก่า “ ๓๓ กิโลเมตร

(๑๒) แต่สถานีเชียงใหม่ถึงศาลารัฐบาล “ ๒ กิโลเมตร

(๑๓) แต่เชียงใหม่ถึงลำพูน “ ๓๑ กิโลเมตร

กลุ่มเจ้านายที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประชุมวางแผนเพื่อจัดการเสด็จฯและ

การจัดพระราชพิธีรับเสด็จฯอย่างรอบคอบ รัดกุมและละเอียดถี่ถ้วน การเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่าย

เหนือและมณฑลพายัพในปีพ.ศ.๒๔๖๙ คือ อภิรัฐมนตรีสภา บทบาทดังกล่าวปรากฏในบันทึกการ

ประชุมเรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ” อันเป็นเอกสารส่วนพระองค์

ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ สถานที่ประชุมคือ วังวรดิศ ในสมเด็จ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เหตุที่ประชุม ณ วังแห่งนี้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็น

ผู้อำนวยการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือฯ

การประชุมครั้งที่ ๑ เป็นเรื่องว่าด้วย” วิธีกะประมาณแลเบิกเงินใช้จ่ายในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ” ประชุมที่วังวรดิศ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ผู้อำนวยการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และเจ้านายที่มิได้เป็นอภิรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กับพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และนายพลตรี พระยาศรีสรราชภักดี ผู้แทนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งมิได้ทรงเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ก็ทรงมีบทบาทสูงยิ่งในการตัดสินพระทัยชี้ขาดเรื่องต่างๆเมื่อต้องมีการลงมติในที่ประชุมดังจะเห็นต่อไปได้จากหลักฐานบันทึกการประชุมครั้งที่๒

ผลการประชุมครั้งที่๑ ที่ประชุมตกลงขอให้กระทรวงวังยื่นบัญชีจำนวนผู้ตามเสด็จในกระบวนเสด็จโดยละเอียด เพี่อจะยื่นกะงบประมาณต่อกระทรวงพระคลัง

ส่วนการประชุมครั้งที่ ๒ เป็นเรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

ประชุมที่วังวรดิศ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สมเด็จพรเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ผู้อำนวยการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และเจ้านายที่มิได้เป็นอภิรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัตกับพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง

วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งที่ ๒ มีสาเหตุมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า

เจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ลดทอนรายจ่ายในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพไม่ให้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ผลจากประชุมครั้งนี้ทำให้หมายกำหนดการเสด็จฯถูกลดจำนวนวันเวลา สถานที่ จำนวนคน และพระราชกรณียกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องลงไปบ้าง ดังนั้นการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ซึ่งเดิมกำหนดไว้ ๔๐ วันจึงเหลือเพียง ๓๒ วัน นอกจากนี้เดิมหมายกำหนดการได้วางแผนให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัยอันเป็นราชธานีเก่าของมณฑลฝ่ายเหนือ และเป็นเมืองที่มีนามพ้องกับพระอิสริยยศเมื่อครั้งทรงกรมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทั้งๆที่มีการวางแผนเส้นทางเสด็จโบราณสถานแห่งต่างๆที่อยู่ในเขตเมืองต่างๆเอาไว้แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จำนวนวันเสด็จฯลดลงเหลือ ๓๒ วันจากหมายกำหนดการเดิม

การประชุมครั้งที่๒นี้ สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสยามซึ่งมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด สมเด็จพระยาบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงตรัสเปิดประชุมว่า

“...ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายในการ เสด็จประพาส ซึ่งตั้งไว้ในงบประมาณปีนี้เป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จะไม่พอใช้ใน การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือซึ่งได้กำหนดเป็นการตกลง และจะต้องเพิ่มเงินขึ้นอีก ทรงพระปริวิตกว่า การประหยัดตัดทอนเงินรายจ่ายของบ้านเมืองในเวลานี้กำลัง กวดขัน ซึ่งทราบอยู่ทั่วกันทั้งในประเทศนี้แลนอกประเทศ ถ้าเพิ่มยอดเงินจ่ายในการ เสด็จประพาสเข้าไป อีก ก็จะเกิดคำครหาว่าตัดเงินรายอื่นตัดได้ แต่ส่วนสำหรับ

เสด็จประพาสเพื่อความสุข สนุกสนานในพระองค์กลับเพิ่มเงินขึ้นใน งบประมาณให้มากขึ้น ดังนี้จึงโปรดให้ที่ประชุม ปรึกษากันดู ว่าจะงดที่ประพาส แห่งใดเสียบ้างก็ดี หรือจะงดรายการอย่างใดลงเสียบ้างก็ดี สุดแต่อย่าให้ต้องเพิ่ม จำนวนเงินเสด็จประพาสคราวนี้ให้เกินประมาณ ถ้าหากจะตัดลงมาไม่ได้ถึงเท่าใน งบประมาณ จำนวนเกินอยู่เท่าใดเต็มพระหฤทัยที่จะทรงออกเงินพระ คลังข้าง ที่เพิ่มพระราชทานจนครบ ยิ่งกว่าจะให้ขึ้นยอดเงินในงบประมาณ...”



จากพระดำรัสข้างต้นที่ประชุมจึงขอให้พระองค์เจ้าศุภโยคเกษมแถลงจำนวนเงินซึ่งกระทรวงต่างๆได้ประมาณรายจ่ายในการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษมเสนอยอดเงินงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัง กระทรวงธรรมการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๕๗,๓๑๐.๕๐ บาท สูงกว่างบประมาณที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริถึง ๑๕๗,๓๑๐.๕๐ บาท กระนั้นก็ยังต่ำกว่าประมาณกว่าเมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเคยมีพระราชปรารภเสด็จฯเลียบมณฑลพายัพ แต่ครั้นจะต้องใช้เงินถึงสองล้านบาท จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องทรงงดการเสด็จฯเลียบมณฑลพายัพในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งไม่เพียงแต่เท่านี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพได้ตรัสถึงการประมาณการงบประมาณที่ผิดพลาดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสาเหตุทำให้จำนวนเงินที่ไม่พอจ่าย

“ต้องเป็นหนี้สินจนเกิดถ้อยความ เทศาฯถูกฟ้องร้องในโรงศาล ปรากฏมาเนืองๆ เสด็จประพาสคราวหนึ่งๆ แม้แต่ในมณฑลหัวเมืองชั้นในถ้าคิดจำนวนเงินก็จะสิ้นเงินหลายๆแสน”

คำกราบทูลของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษมทำให้ทราบว่าสถานการณ์ทางการเงินของรัฐบาลสยามมีสภาพไม่ปกติเท่าใดนัก กล่าวคือ

“...ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นต้องให้เงินแผ่นดินเป็นดุลย์ภาพขึ้น ต้องตัด

รายจ่ายสำหรับการต่างๆ ออกเป็นอันมาก จำนวนเงินซึ่งกระทรวงวังเคยใช้ สำหรับ การเสด็จประพาสนั้นตัดออก เหลือไว้แต่จำนวนเงินรายแสนบาท ด้วยคาดว่าการ เสด็จประพาสในรัชกาลปัจจุบันนี้ กระบวนคงจะน้อยลง แลการจ่ายเงินคงไม่เปลือง เหมือนรัชกาลก่อน...”



สมเด็จฯ กรมพระดำรงฯ ทรงเสนอทางออกในการแก้ปัญหาข้างต้นไว้ ๓ ประการ คือ การลดสถานที่เสด็จประพาส การลดจำนวนผู้คนที่ไปตามเสด็จฯ และการโอนรายจ่ายบางประการไปอยู่ในส่วนของเงินพระคลังข้างที่

สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงดำริให้ตัดการเสด็จประพาสเมือง

สวรรคโลกและเมืองสุโขทัยออกเนื่องจากจะเสด็จไปเมื่อไรก็ได้ แม้ว่าในการประชุม “ว่าด้วยวิธีกะประมาณและเบิกเงินใช้จ่ายในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ”ครั้งที่๑ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๙ จะมีการกำหนดเส้นทางดังกล่าวไว้อย่างรัดกุมแล้วก็ตาม ส่วนการเสด็จฯเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสนนั้นสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงให้คงไว้ ด้วยเหตุผลคือ

“...เป็นประโยชน์เกี่ยวถึงทางรัฏฐาภิปาลโยบายแลในการทำนุบำรุงบ้านเมือง อีก

ประการหนึ่งถ้ารอไว้เสด็จไปต่อคราวอื่น ก็จะเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าเสด็จไปใน คราวนี้ ที่ประชุมเห็นชอบด้วยตามพระดำริห์...”



การยกเลิกเส้นทางการเสด็จฯเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย นอกจากจะส่งผลทำให้สามารถประหยัดเงิน “ค่ารถไฟ” เป็นเงิน ๒,๐๔๒ บาทตามพระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการงดเส้นทางสุโขทัย-สวรรคโลกยังลดลงไปด้วยถึง ๕๒,๗๖๒ บาท



๓.๑.๑ การเตรียมการสร้างพลับพลาที่ประทับในเส้นทางเสด็จฯ

นอกจากการประชุมเตรียมการเสด็จฯเกี่ยวกับงบประมาณการเสด็จฯของอภิรัฐมนตรีสภาแล้ว ยังมีการวางแผนจัดเตรียมงบประมาณการสร้างพลับพลาที่ประทับ การจัดเตรียมที่ประทับแรมและที่ประทับร้อนตามเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพด้วย

หลักฐาน การประชุมเรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ”สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างพลับพลาที่ประทับอีกส่วนหนึ่งด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ทรงดำริว่า การประทับแรมที่เมืองเชียงแสนอาจไม่มีความจำเป็นเนื่องจาก

“...ที่จริงในระยะทางระหว่างเมืองเชียงแสนกับเมืองเชียงราย อาจจะไปแล้วกลับใน วันเดียวแลยังมีเวลาพอที่จะเที่ยวดูสถานที่ต่างๆได้ ถ้าเปลี่ยนเป็นประทับร้อนที่เมือง เชียงแสนแล้ว เสด็จกลับมาประทับแรมที่เมืองเชียงราย ก็จะเลิกพลับพลาแรมได้ แห่งหนึ่ง อีก แห่งหนึ่งนั้นที่เมืองพะเยา เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นไป เห็นมีที่ว่าการ อำเภอใหญ่โตพอจะจัดเป็นพลับพลาแรมได้ ถ้าใช้ที่ว่าการอำเภอเป็นพลับพลาแรมที่ เมืองพะเยาได้ ก็จะลดค่าสร้างพลับพลาแรมที่นั้นได้อีกแห่งหนึ่ง”



สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ทรงเห็นชอบด้วย และตรัสว่าการเปลี่ยนจากประทับแรมเป็นประทับร้อนที่เมืองเชียงแสน ยังจะช่วยทำให้สามารถลดค่าขนของและการตั้งโรงครัวที่เมืองเชียงแสนได้อีกด้วย สำหรับเรื่องพลับพลาที่เมืองพะเยานั้น

“จะทรงขอไปพิจารณาดูก่อนถ้าสามารถจะใช้ที่ว่าการอำเภอได้ก็จะใช้ที่ว่าการ อำเภอ”

รายงานการประชุมสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนประทับแรมเป็นประทับร้อนที่เมืองเชียงแสนทำให้สามรถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างพลับพลาที่ประทับได้เป็นเงิน ๒,๓๐๐ บาท ส่วนงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประทับแรมก็ลดลงได้ถึง ๕๕,๐๖๒ บาท และงบประมาณที่จัดสรรมาจากกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมก็ลดลงไปเป็นเงิน๒,๐๔๒ บาทเช่นกัน

๓.๑.๒ การวางแผนลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสมโภชพระพุทธชินราช

ตามโบราณราชประเพณีนั้น เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเสด็จพระราชดำเนินสักการะพระพุทธปฏิมาสำคัญจะต้องมีการจัดมหรสพสมโภชเพื่อเป็นพุทธบูชา ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพครั้งนี้ นอกจากที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาจะได้หารือเพื่อลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเส้นทางและการงดสร้างพลับพลาที่ประทับบางแห่งแล้ว ยังพยายามที่จะลดจำนวนผู้ตามเสด็จฯให้น้อยลงด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ตรัสถามในที่ประชุมครั้งที่ ๒ เรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ว่า มีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องให้พนักงานมหรสพไปเล่นในงานมโภชพระพุทธชินราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทูลชี้แจงว่า ธรรมเนียมดังกล่าวมีมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชสืบต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ

“...เรื่องมูลเหตุอันเกิดขึ้นแต่ครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชต่อมาได้โปรดฯ มอบการนั้นแก่สมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมอบต่อมาจึงเลยเป็นประเพณี ถ้าจะไม่ถือประเพณีนั้นต่อไปจะเลิกเสีย หรือจะมีหนังฉายแทนก็ได้ เพราะหนังฉายเขาก็ไปเล่นอยู่ที่พิษณุโลกเนืองๆ”



ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติให้คงธรรมเนียมการมีมหรสพสมโภชดังกล่าวตามคำกราบทูลของพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ คือ

“หนังกรมมหรสพที่เตรียมจะขึ้นไปเล่นนั้น ไม่ใช่จะขึ้นไปเล่นอย่างโขนน่าจอโรงใหญ่ จะเล่นแต่อย่างหนังสามัญ ผู้คนไม่ต้องส่งขึ้นไปเท่าไหร่นัก ถึงจะเลิกเสียก็ไม่ได้ลดเงินลงได้เท่าใด”



๓.๑.๓ การลดค่าใช้จ่ายการจัดเลี้ยงในรถไฟ

การประชุมครั้งที่ ๒ เรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ

๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙” ยังได้วินิจฉัยประเด็นการโอนเงินค่าเลี้ยงอาหารกระบวนเสด็จฯในรถไฟซึ่งเดิมกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท และกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบเป็นเงิน ๓,๖๐๐ บาท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตรัสว่า ควรจะตัดยอดไปจ่ายทางพระคลังข้างที่ได้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายระหว่างการเสด็จฯต่อไปว่า

“ราชการซึ่งพระยาวรพงษ์ฯ ประมาณค่าเครื่องมาเป็นเงิน ๒๐,๓๔๓ บาท ๕๐ สตางค์รายหนึ่ง แลยังมีค่าส่งคนแลขนของในกระทรวงวัง เช่นให้กรมชาวที่ขนของ ขึ้นไปแต่งพลับพลาเป็นต้น พระยาวรพงษ์ฯยังไม่ได้ประมาณมาอีกรายหนึ่ง เห็นว่า ถ้าโอนเงิน ๓ ราย คือค่าเครื่องรายหนึ่ง ค่าเลี้ยงอาหารกระบวนเสด็จในรถไฟราย หนึ่ง กับค่าส่งคนขน ของในกระทรวงวังรายหนึ่ง ไปจ่ายทางพระคลังข้างที่จะพบ อยู่แล้วไม่ควรจะเบียดเบียน พระคลังข้างที่ยิ่งกว่านั้น”



๓.๑.๔ การลดค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการของข้าราชการที่ตามเสด็จฯ

ค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการของข้าราชการกระทรวงธรรมการที่ตามเสด็จฯก็เป็นประเด็นสำคัญของการประชุมในอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษมตรัสว่า จากมติของที่ประชุมครั้งที่๑ กำหนดว่าค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทางของเจ้าพนักงานในกระทรวงใดก็ต้องเบิกในงบประมาณกระทรวงนั้น กระทรวงมหาดไทยเป็นแต่พนักงานรับเลี้ยงตามที่เจ้ากระทรวงเสนอมาและคิดเงินจากกระทรวงนั้นๆ มิได้เกี่ยวแก่ยอดเงินงบประมาณการเสด็จประพาส และการที่เลี้ยงนั้น เจ้าพนักงานที่ขึ้นไปก็แบ่งเป็นหลายชั้น หลายระดับ จึง “ไม่จำต้องเลี้ยงเสมอหน้ากัน ถ้าเป็นได้อย่างนั้น ก็จะเบาเงินที่จะต้องจ่ายในงบที่จะเสด็จประพาสในมณฑลฝ่ายเหนือได้อีกอย่างหนึ่ง”

หลักฐานการประชุม ครั้งที่๒ ของอภิรัฐมนตรีสภาระบุว่า จากการพิจารณาลดค่าใช้จ่ายต่างๆ จากเดิมที่ต้องจำกัดงบประมาณให้อยู่เพียงภายในวงเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามพระราชดำริในชั้นต้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ ก็สามารถจัดทำงบประมาณการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ให้อยู่ภายในวงเงินจำนวน ๑๗๒,๐๖๓ บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายของกระทรวงมหาดไทยจำนวน ๑๑๗,๓๐๕ บาท กระทรวงกะลาโหม ๒๐,๘๑๐ บาท และกระทรวงพาณิชย์ฯ ๓๒,๙๕๘ บาท

กระนั้นก็ตามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังตรัสให้กระทรวงมหาดไทยลดค่าเลี้ยงอาหารคน จากวันละ ๗ บาท ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทูลตอบว่า

“... ที่กะมานี้ โดยคิดถัวทั้งมณฑล บางแห่งเช่นเชียงราย เชียงแสนเป็นทางไกล

กันดาร หาของสดไม่ได้ ต้องขนไปจัดทำ จะต้องคงไว้ ส่วนทางมณฑลพิษณุโลกก็ได้กะไว้สำหรับสวรรคโลก สุโขทัยเช่นเดียวกัน เมื่อเลิกสวรรคโลก สุโขทัย แล้วคงจ่ายแต่ที่พิษณุโลก เข้าพระทัยว่าจะย่อมเยาลงได้ไม่ถึง ๗ บาททีเดียว อย่างไรก็ดีจะได้เชิญสมุหเทศาภิบาลมากะเป็นจังหวัดๆไป แล้วจะได้ทำงบยื่นต่อกระทรวงพระคลังๆใหม่ รวมตัดรายการบางอย่างที่ตัดไม่เสร็จออกเสียด้วย”



จากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ก็ได้กลับไปทรงคิดตัดเงิน

ค่าอาหารในงบประมาณมหาดไทย แล้วทรงยื่นยอดเงินในวันหลังปรากฏว่าสามารถลด

ค่าใช้จ่ายลงได้อีก ๘,๐๐๐ บาท และเมื่อคิดยอดเงินที่ได้ตัดลงก็เป็นอันยุติว่าจะต้องจ่ายเป็น

เงินจำนวน ๑๖๔,๐๖๓ บาท ซึ่งแม้จะยังคงสูงกว่ายอดเงินในงบประมาณอยู่ ๖๔,๐๖๓ บาท

แต่ไม่เห็นทางที่จะลดลงได้อีก อภิรัฐมนตรีจึงเห็นพร้อมกันว่า เงินที่ยังขาดนั้น ให้กระทรวงพระคลังฯ จ่ายทดรองให้แล้วหักจากเงินซึ่งจะประมาณในการเสด็จประพาสในปีหน้า

๓.๑.๕ การพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด

ในการประชุมครั้งที่๒ เรื่อง “กะประมาณเงินในการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙” ของอภิรัฐมนตรีสภานั้น ที่ประชุมได้ปรึกษากันเรื่องรายการเบ็ดเตล็ด ดังนี้

“(๑) เรื่องน้ำเสวย ว่าน้ำเพ็ชร์ จะต้องจัดถวายด้วยหรือไม่ การขนน้ำเพ็ชรไปเป็นการ เปลืองอยู่ เพราะภาชนะที่ใส่ไปต้องแตกเสียหายมาก”



สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ตรัสว่าไม่จำเป็นต้องน้ำเพ็ชร์ ถ้ามีน้ำฝนต้มก็ดีอยู่แล้ว ถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ก็เสวยแต่น้ำแร่ สั่งจากฝรั่งเศส



“(๒)เรื่องขอให้กรมรถไฟแต่งโฮเต็ลรถไฟที่เชียงใหม่ใช้เป็นพลับพลาทอดพระเนตร กระบวนแห่ แต่เกยที่จะทรงช้างหน้าโฮเต็ลนั้น ฝ่ายบ้านเมืองจะจัดทำ”

สมเด็จฯ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน รับจะทรงจัดถวาย



“(๓) เรื่องประทับแรมที่สถานีเด่นชัย”

สมเด็จฯ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงรับจะจัดที่ประทับ ที่พัก อาหาร น้ำ ตลอดจนโคมไฟ

“(๔) เรื่องรถยนต์ในพื้นเมืองมณฑลพายัพ ทางฝ่ายบ้านเมืองจำเป็นต้องขอไว้เช่าใช้

บ้าง”

สมเด็จฯกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธินตรัสว่า

“รถยนต์ที่กะไว้ใช้ ๔๐ หลังนั้น เป็นรถยนต์ของกรมทางหาไปจากที่อื่นทั้งนั้น ไม่ เกี่ยวแก่รถยนต์ในพื้นเมือง เพราะทรงทราบดีอยู่ว่า ทางฝ่ายบ้านเมืองจักต้องการใช้ อยู่เหมือนกัน”









๓.๒ เส้นทางการเสด็จฯ

เส้นทางการเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ระหว่างวันที่ ๖มกราคม ๒๔๖๙ –วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ รวมระยะเวลา ๓๒ วัน การเสด็จจากกรุงเทพฯ เริ่มจากสถานีจิตรลดาผ่านสถานีอยุธยา ลพบุรี และสถานีต่อๆไป มีการจัดการรับเสด็จตามสถานีใหญ่ๆ อาทิ ที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ มณฑลนครสวรรค์ก็จัดเช่นเดียวกับที่อยุธยา ประกอบด้วยกองทหารและลูกเสือพร้อมด้วยแตรวงและธงประจำกอง ตลอดจนข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและประชาชน ดังปรากฏในหลักฐานหลายชิ้น เช่น จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือพระพุทธศักราช ๒๔๖๙ หนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จฯและหนังสือราชกิจจานุเบกษา

เส้นทางการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพปรากฏดังในตารางต่อไปนี้


 
 
 
วันเดือน ปี เวลา สถานที่/จังหวัด


๖ มค.๖๙ ๐๘.๐๐น.

๑๘.๐๐น. -เสด็จทรงรถไฟพิเศษออกจากกรุงเทพฯ

-ถึงสถานีพิษณุโลก เสด็จประทับพลับพลาที่จวนกลาง

๗ม.ค.๖๙ ๑๐.๐๐น. -เสด็จบูชาพระพุทธชินราช วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วทอดพระเนตรวัดราชบูรณะ วัดนางพระยา



๗ม.ค.๖๙ -ประทับทอดพระเนตรการประชุมสหกรณ์/ ข้อบังคับและบัญชี / ลงพระราชหัตถเลขาบันทึกในสมุดรายงาน พระราชทานพระบรมราโชวาท

๗ม.ค.๖๙ ๑๗.๐๐น. -เสด็จไปในงานสมโภชพระพุทธชินราช พระสงฆ์สวดมนต์ แล้วมีหนังหลวง และจุดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชา

๘ม.ค.๖๙ ๑๐.๐๐น. -เสด็จฯวัดจุฬามณี จ.พิษณุโลก แล้วเสด็จกลับมาเวียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราช

๘ม.ค.๖๙ เวลาบ่าย๔.๐๐น. -พระราชทานธงลูกเสือ

-เสด็จไปบวงสรวงอดีตมหาราชที่โบราณสถานวังจันทร์ แล้วประพาสโรงทหาร จ.พิษณุโลก





๙ม.ค.๖๙ ๐๙.๐๐น.

เวลาบ่าย -รถไฟพระที่นั่งออกจากพิษณุโลกถึงสถานีเด่นชัย

-พระราชทานพระแสงราชศัสตราเมืองแพร่

-ประทับแรมในรถไฟที่จอดที่สถานีเด่นชัย

๑๐ ม.ค. ๖๙







๐๘.๐๐น.

๑๒.๓๐น. -รถไฟออกจากสถานีเด่นชัย

-รถไฟพระที่นั่งถึงสถานีเมืองนครลำปาง

-ร.๗และสมเด็จพระราชินีเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

-เสด็จประทับพลับพลาแรมที่โรงทหาร





๑๑ ม.ค.๖๙ เวลาเช้า ว่าง



๑๑ ม.ค.๖๙ ๑๖.๐๐น. -ณ ศาลากลางจ.ลำปาง พิธีพระราชทานพระแสงราชศัสตรา

๑๒ม.ค.๖๙ ๑๐.๐๐น.



๑๖.๓๐น. -ทอดพระเนตรบริเวณเมืองนครลำปาง

-ทอดพระเนตรวัดพระแก้วและวัดเงี้ยว

-ทอดพระเนตรทหารสวนสนาม นครลำปาง

๑๓ ม.ค.๖๙

๐๗.๑๕น.

-เสด็จระหว่างนครลำปางถึง จ.เชียงราย ประทับร้อนที่เมืองงาว และประทับแรมที่เมืองพะเยา

๑๔ ม.ค. ๖๙ ๑๐.๐๐น.

๑๖.๐๐น. -เสด็จประพาสวัดพระเจ้าตนหลวง พระธาตุจอมทอง

-เสด็จประทับพลับพลาหน้าที่ประทับเวียงแก้ว(ประทับเมืองพะเยา ๒ ราตรี)

๑๕ม.ค.๖๙







๐๙.๐๐น.

๑๔.๐๐น.

๑๖.๐๐น.

-เสด็จออกจากเมืองพะเยา (ระยะทาง ๔๙ ก.ม.)เมืองพาน

-เสด็จถึงที่ประทับแรมเมืองเชียงราย

-ทรงรถยนตร์เสด็จประพาสทอดพระเนตรบริเวณเมืองเชียงราย

๑๖ม.ค. ๖๙ ๑๑.๐๐น. -พระราชทานพระแสงราชศัสตราจังหวัดเชียงราย

๑๖ม.ค.๖๙ ๑๖.๐๐น. -เสด็จประพาสเมืองเชียงราย

๑๗ม.ค.๖๙ ๐๙.๓๐น. -ประพาสเมือง

เชียงแสน

๑๘ ม.ค. ๖๙

เวลาบ่าย

-เสด็จประพาสเมืองเชียงราย

๑๙ม.ค.๖๙

๒๐ ม.ค. ๖๙ เวลาเช้า

เวลาเช้า -เสด็จกลับจากจังหวัดเชียงรายมาประทับแรมเมืองพะเยา

-เสด็จทรงรถยนต์จากเมืองพะเยา กลับมาประทับแรมเมืองนครลำปาง

๒๑ม.ค.๖๙ ๑๖.๐๐น. -ว่าง ประทับที่นครลำปาง

๒๒ม.ค.๖๙ ๑๐.๔๕น.

๑๑.๐๐น.

๑๔.๕๐น.

-เสด็จจากนครลำปางไปนครเชียงใหม่

-รถไฟที่จูงกระบวนรถพระที่นั่งใช้จักรออกจากสถานีลำปาง

-เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ แล้วทรงช้างพระที่นั่ง มีกระบวนแห่จากสถานีรถไฟเข้าเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ถึงที่ประทับแรม ณ ศาลารัฐบาล

๒๓ ม.ค.๖๙ ๑๐.๐๐น.

๑๐.๓๐น.

๑๖.๐๐น. -ทำพิธีทูลพระขวัญ ณ พลับพลาบริเวณที่ประทับแรม แล้วทำพิธีพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเชียงใหม่

-มีมหรสพสมโภช ณ สนามหน้าโรงเรียนหลวง (ร.ร.ยุพราช)

-พระราชทานธงลูกเสือ ณ สนามหน้าโรงเรียนหลวง

๒๔ ม.ค.๖๙ ๐๙.๓๐น. -เวลาเช้า เสด็จทอดพระเนตรช้างพลายสำคัญที่เชิงดอยสุเทพ

๒๕ ม.ค.๖๙ ๑๐.๐๐น. -เวลาเช้าทอดพระเนตรโรงเรียนรัฐบาล

๒๖ ม.ค. ๖๙ ๑๐.๐๐ น. -เวลาเช้าเสด็จทรงรถยนต์ไปเมืองลำพูน ประทับที่พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ

-เวลาบ่าย เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถาน และบริเวณวัดมหาธาตุ และวัดกู่กุด แล้วกลับเมืองเชียงใหม่

๒๗ ม.ค. ๖๙

๑๗.๐๐น. -เวลาเช้าว่าง

-เวลาบ่าย เสด็จไปยังโรงช้างพลายสำคัญ พระสงฆ์สวดมนต์ แล้วทรงรดน้ำมนต์พระราชทานช้างพลายสำคัญ และมีระบำของพระราชชายาสมโภช

๒๘ ม.ค. ๖๙ ๑๐.๐๐น. -เวลาเช้า เสด็จไปทอดพระเนตรโรงเรียนผู้หญิงของพระราชชายา (ดาราวิทยาลัย) โรงเรียนปรินสรอแยล โรงพยาบาลของพวกมิชชันนารี และโรงพยาบาลโรคเรื้อนของหมอแมกเกน

-เวลาบ่ายว่าง

๒๙ ม.ค. ๖๙ ๑๐.๐๐น.









เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา -เวลาเช้า เสด็จประพาสทางเหนือเมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรข่วงช้างเผือก ข่วงสิงห์ วัดเจดีย์เจ็ดยอด

วัดกู่เต้า





-เสด็จฯทอดพระเนตรการกีฬา ซึ่งสโมสรจิมคานาจัดถวาย



๓๐ ม.ค. ๖๙ ๐๙.๐๐ น.



๑๗.๐๐ น. -เวลาเช้า ดอยสุเทพ ประทับแรมบนดอยสุเทพ



-เวลาบ่าย สมโภชพระธาตุดอยสุเทพ มีการจุดบอกไฟ

๓๑ ม.ค. ๖๙ เป็นวันว่าง ประพาสที่บวกห้า แหลมสน และดอยปุย

๑ ก.พ. ๖๙





๒ ก.พ. ๖๙ ๑๐.๐๐น.

๑๗.๐๐น.



เวลาเช้าว่าง

๑๖.๐๐ น. -เวลาเช้า เสด็จลงจากดอยสุเทพ

-เวลาบ่ายเสด็จทอดพระเนตรการแสดงหัตถกรรม





-เสด็จฯงานปอยหลวงวัดพระสิงห์

-ทอดพระเนตรแห่ครัวทาน สมโภชพระสิงห์

๓ ก.พ.๖๙

๑๐.๐๐น.



๑๗.๐๐น.

-เวลาเช้า เสด็จวัดพระสิงห์ ทอดพระเนตรการตักบาตรตามประเพณีเมืองเชียงใหม่

-เวลาบ่ายเสด็จทอดพระเนตรการฝึกซ้อมทหาร

๔ ก.พ. ๖๙

๑๗.๐๐น. -เวลาเช้าว่าง

-เสด็จประพาสเวียงเจ็ดริน ทอดพระเนตรน้ำตกห้วยแก้ว



๕ ก.พ. ๖๙ เวลาเช้า



๐๘.๐๐ น. -เสด็จทรงรถยนต์จากที่ประทับไปยังสถานีรถไฟ



-ทรงรถไฟพระที่นั่งจากเชียงใหม่กลับพระนคร

๖ ก.พ. ๖๙ เวลาเช้า ๙นาฬิกาเศษ เสด็จฯถึงสถานีกรุงเทพฯ



๓.๓ การเตรียมการรับเสด็จฯ

๓.๓.๑ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการรับเสด็จฯ

หลักฐานจดหมายเหตุฯ กล่าวถึงการเตรียมการรับเสด็จฯ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้กรมและกระทรวงต่างๆ ให้มีหน้าที่ ดังนี้

๑) กระทรวงมหาดไทย เป็นพนักงานจัดการรับเสด็จในท้องที่ จัดที่ประทับ จัดที่พัก และเลี้ยงราชบริพาร จัดการอนามัย

๒) กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม เป็นพนักงานจัดพาหนะสำหรับกระบวนเสด็จ และพาหนะรับส่งพนักงานที่ไปจากกรุงเทพฯ กับตรวจตราแต่งทาง และเลี้ยงในรถไฟ ถ่ายรูปและส่งข่าวบอกหนังสือพิมพ์ในการเสด็จ

๓) กระทรวงกลาโหม เป็นพนักงานจัดล้อมวงที่ประทับทุกแห่ง และจัดที่ประทับเฉพาะเมืองลำปาง ๑ แห่ง นอกจากนั้นจัดรับเสด็จประพาสโรงทหาร

๔) กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จ่ายเงินและตรวจบัญชี

๕) กระทรวงธรรมการ จัดพระสงฆ์

๖) กรมราชเลขาธิการ เตรียมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สัญญาบัตร และพนักงานแต่งข่าวลงราชกิจจานุเบกษา

๗) กรมมหาดเล็ก เป็นพนักงานแต่งห้องที่ประทับ กับจัดพระเครื่องต้น และคุมเงินท้ายพระที่นั่ง และของพระราชทาน

๘) ราชบัณฑิตยสภา แต่งและพิมพ์หนังสือนำทางเฉพาะซึ่งกรมรถไฟยังไม่ได้พิมพ์



สำหรับการเตรียมการรับเสด็จฯที่นครเชียงใหม่ เป็นการจัดพิธีเสด็จฯเข้าเมืองที่มีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญต่อการรับรู้ของชาวเมืองเป็นอันมากจึงจำเป็นต้องกล่าวถึงโดยละเอียด ดังต่อไปนี้



กระบวนแห่ กงสุล พ่อค้า ชาวต่างประเทศ กับกองการกุศลต่างๆ ในนครเชียงใหม่ แบ่งเป็น ๒ ตอน ได้แก่

ตอนที่ ๑ มีลูกเสือและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ

ตอนที่ ๒ ชาติและภาษาต่างๆ จำแนกเป็น

๑) กระบวนของชาวล้านนา คือกระบวนชาวเมืองมีป้ายระบุว่า “ลานนาไทย์” มีราษฎรหญิงทั้งสาวและแก่เดินตอนหน้าประมาณ ๒๐๐ คน ตอนหลัง มีราษฎรชายทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนเดินประนมมือตลอด

๒) กระบวนจีน มี ๓ ตอน ดังนี้

ก. ตอนหน้า มีธงต่างๆและภาพปลานำกับมีรูปมังกร ๑ และปลาอยู่ข้างละ ๒ และล่อโก๊

ตอนกลาง มีสิงโตจีน เครื่องสายอย่างจีน และล่อโก๊ ทุกคนในกระบวนใส่เสื้อยาว

ข. ตอนท้าย มีสิงโตและกลอง เครื่องบรรเลงอย่างจีนล่อโก๊ ผู้เข้ากระบวนตอนนี้แต่งตัวด้วยผ้าแดง

๓) กระบวนฮ่อ

ก. มีราษฎรชายหญิงเดินข้างหน้า

ข. ภาพภูเขา มีฮ่อคนหนึ่งนั่งอยู่บนเขา และมีนกยูงเกาะอยู่หน้าเขาตัวหนึ่ง ขนาดเท่าตัวจริง

ค. มีม้าและลาต่างๆบรรทุกเครื่องพร้อม ๑๒ ตัว

๔) กระบวนลัวะ มีภาพเจ้าหญิงลัวะ นั่งบนม้าและมีผู้ชายลัวะคุกเข่าถวายสำรับ มี

พวกลัวะชายหญิงตามหลัง มีเครื่องบรรเลงไม้

๕) กระบวนยาง มีภาพชนเผ่ายางแบกลอบขนาดเท่าตัวจริง มีฆ้อง กลอง และฉิ่งนำหน้า

๖) กระบวนแม้ว(ม้ง) มีภาพชนเผ่าแม้ว(ม้ง)ไหว้เจ้า (ต้นไม้) ขนาดตัวจริงและมีเครื่องดนตรี ซึ่งภาษาแม้ว(ม้ง)เรียกว่าไก๊ (แคน) มีราษฎรแม้วชายหญิงตาม

๗) กระบวนย้าว(เย้า) มีภาพชายหญิงยืนใกล้กัน ทำคลอเคลีย ผู้ชายแต่งตัวเป็นแม้วกำลังเป่าแคน ผู้หญิงแต่งตัวเป็นย้าว ทั้งชายหญิงห้อยดอกไม้ใส่เสื้อผ้าอย่างสวย ทราบจากพวกย้าวว่าเป็นเครื่องแต่งตัวในการแต่งงาน

๘) กระบวนมูเซอ มีภาพชนเผ่ามูเซอไหว้เจ้า ข้างหน้ามีศาลเพียงตา เครื่องดนตรีแคน ผู้ชายทุกคนถือหน้าไม้สพายแลง ผู้หญิงสะพานย่าม

๙) กระบวนขมุ มีภาพชนเผ่าขมุตีฆ้องกบเท่าของจริง (มโหระทึก) เครื่องบรรเลงมีฆ้องกบหามเป็นคู่ และฆ้อง กระแต ฉาบ มีขมุ ๔ คน ถือช่อดอกไม้ฟ้อน มีขมุชายหญิงตามหลัง

๑๐) กระบวนพม่า มีรูปนกยูงฟ้อนนำไม่มีดนตรี มีคนตามหลัง

๑๑) กระบวนเงี้ยว มีกลองเงี้ยวมีคนร้องเพลงทำนองเงี้ยว และมีพวกเงี้ยวตาม

๑๒) กระบวนบริษัทบอมเบย์ มีภาพแสดงกิจการของบริษัทมีภาพจำลองรูปภูเขาและป่าไม้กระท่อมชั่วคราวในป่ามีช้าง ๒ เชือกเชือกกำลังลากซุง อีกเชือกหนึ่งกำลังงัด และมีภาพเกวียนลากซุงด้วยควาย ๔ ตัว มีคนงานของบริษัทตามหลัง

๑๓) กระบวนบริษัทบอร์เนียว มีภาพช้างยืนต้นไม้สัก ๓ ต้น และซุง ๑ ท่อน กระท่อม ๑ หลัง และไก่ ๒๓ ตัวขังอยู่ในเล้าใต้ถุนกระท่อม ตอนท้ายมีเสือหมอบอยู่ ๑ ตัว ขนาดย่อมเท่าของจริงหน้าดุมาก เมื่อดูอยู่ห่างๆเพียง ๑ เส้นจะเห็นว่าเป็นภาพจริงทั้งหมด เมื่อภาพนี้ผ่านหน้าพลับพลา ได้มีชนเผ่าขมุ ๒ คนเอาขวานฟันต้นไม้สักถวายทอดพระเนตร มีคนงานของบริษัทเดินตามหลัง

๑๔) กระบวนโรงพยาบาลแมคคอมิก มีหุ่นจำลองรูปโรงพยาบาลแมคคอมิก เฉพาะตึกพยาบาลที่มีอยู่แสดงถึงเตียงคนไข้ หน้าต่างประตูเหมือนของจริงทุกอย่าง มีคนทำงานโรงพยาบาลตามหลัง

๑๕) กระบวนโรงพยาบาลโรคเรื้อน มีหุ่นจำลองรูปโรงพยาบาลโรคเรื้อน มีภาพตึกและเรือนของคนเจ็บ ตลอดจนสนามหญ้า ที่สูบน้ำ ถนนหนทางเหมือนของจริงทุกอย่าง



๓.๓.๒ การสร้างซุ้มรับเสด็จ

นอกเหนือจากการจัดการรับเสด็จฯด้วย “กระบวน “ ชนเผ่าและหน่วยงานต่างๆแล้ว นครเชียงใหม่ยังได้จัดทำซุ้มประตูชัยรับเสด็จฯอย่างยิ่งใหญ่จำนวน ๑๐ ซุ้ม โดยทำเป็นรูปต่างๆกัน และมีพระคาถาถวายพระพรซุ้มละบาทพระคาถาไม่ซ้ำกัน

การตกแต่งเมืองเชียงใหม่และสร้างซุ้มประตูชัยทั้ง ๑๐ ซุ้ม เพื่อรับเสด็จฯ เป็นหน้าที่ของกองสุขาภิบาลอำนวยการ และบรรดาพ่อค้านายห้างต่างๆเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ ยกเว้นซุ้มที่ ๑ ที่สุขาภิบาลเป็นเจ้าของ จึงสังเกตได้ว่าผู้รับผิดชอบในการสร้างซุ้มเป็นพ่อค้าชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ ซุ้มประตูชัยที่ ๒ เป็นของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ซุ้มประตูชัยที่ ๓ เป็นของบริษัทบอร์เนียว ซุ้มประตูชัยที่ ๔ เป็นของบริษัทอิสเอเชียติ๊กฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ ซุ้มประตูชัยที่ ๖ เป็นของคนในบังคับอังกฤษทุกชาติทุกภาษา ซุ้มประตูชัยที่ ๗ เป็นของคณะพ่อค้าจีน ซุ้มประตูชัยที่ ๘ เป็นของบริษัทอิสเอเชียติ๊กเดนมาร์ค ซุ้มที่ ๙ เป็นของบริษัทหลุยตีลิโนเวนช์ ลำปาง และซุ้มที่ ๑๐ เป็นของบริษัทแองโกลสยาม ลำปาง ตามลำดับ

ส่วนการผูกคาถาภาษาบาลีในแต่ละซุ้มนั้น ในหนังสือจดหมายเหตุกล่าวว่า บาทที่ ๑ และบาทที่ ๒ เป็นของเก่า นอกจากนั้นจากบาทที่ ๓ ถึง ๑๐ พระมหาเมฆ เปรียญเอก ๙ ประโยค วัดกันมาตุยาราม กรุงเทพฯ เป็นผู้ผูกขึ้น แสดงให้ให้ว่ามีการตระเตรียมการและประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

การให้แบบอย่างและการตรวจตราการตกแต่งประดับประดาทั้งปวงตลอดจนอำนวยการทำรถแห่ โดยเลือกตามลัทธิหรือความเป็นอยู่ของชนชาติต่างๆในมณฑลพายัพ เป็นหน้าที่ของพระยาอนุศาสตร์ จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ข้าราชการเบี้ยบำนาญกรมมหาดเล็กซึ่งได้ขึ้นเป็นช่วยสมุหเทศาภิบาล

การจัดกระบวนแห่เข้าเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนวยการของ นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฎเป็นนายก ส่วนเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครกับพระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเป็นกรรมการ เครื่องกระบวนแห่ต่างๆจัดทำขึ้นจากสถานที่ ๒ แห่ง คือ ๑) คุ้มเจ้าหลวง ๒) พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงรับช่วยทำเสื้อผ้ากระบวนแห่ และมีการจัดกระบวนช้างอย่างยิ่งใหญ่รวมทั้งสิ้นจำนวน ๘๔ ช้าง

ซุ้มประตูชัยรับเสด็จฯทั้ง ๑๐ ซุ้ม ถูกสร้างขึ้นเรียงตามลำดับดังนี้

















ซุ้มประตูชัยที่ ๑ ตรงทางแยกริมที่พักของกรมรถไฟ สุขาภิบาลเป็นเจ้าของทำเป็นรูปโขลนทวารหุ้มดว้ยผ้าแดงประกอบลายทองเป็นดาวกระจาย มีกรวยเชิงที่สุดข้างบนและข้างล่าง มีอักษรผูกเป็นคาถาว่า “สวาคตนเต มหาราช” หมายถึง สมเด็จพระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว





































ซุ้มประตูชัยที่ ๒ บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเป็นเจ้าของ ทำที่กลางทางระวางซุ้มที่ กับสะพานนวรัฐ เป็นรูปทรงพม่า มีอักษรผูกเป็นคาถาว่า “อโถ เดอทุราคต”หมายถึง มิได้เสด็จมาร้ายเลย

























ซุ้มประคูชัยที่ ๓ บริษัทบอร์เนียวป็นเจ้าของ ทำที่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันออก ทำนองเป็นคอนกรีตประกอบข้างที่เสามีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า

“ นวปุร ปโชเตสิ” หมายถึง ทรงยังเมืองเชียงใหม่ให้รุ่งเรือง























ซุ้มประตูที่ ๔ บริษัทพัฒนากรเป็นเจ้าของ ทำที่สี่แยกวัดอุปคุต เป็นซุ้มไฟฟ้าส่งแรงไฟจากโรงภาพยนตร์ มีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า “ชเนสิ ปิติปามุท”หมายถึง ทรงยังความปลาบปลื้มบันเทิงใจให้เกิดแก่ชาวเชียงใหม่



















ซุ้มประตูชัยที่ ๕ บริษัทอิสเอเชียติ๊ก ฝรั่งเศสเป็นเจ้าของทำที่ถนนท่าแพ ทำเป็นประตูข้างบนโค้งกลม มีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า“สุคโต โหติ สพพตถ” หมายถึง ขอพระองค์จงเสด็จไปด้วยดีในสถานที่ทั้งปวง

























ซุ้มประตูชัยที่ ๖ เป็นของคนในบังคับของอังกฤษทุกชาติทุกภาษา ทำเป็นรูปประตูท่าแพ อย่างประตูเมืองขอมโบราณ มีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า “สุขึ ภว สราชินี “ หมายถึง ขอจงทรงพระสำราญพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี













































ซุ้มประตูชัยที่ ๗ เป็นของคณะพ่อค้าจีนเชียงใหม่ ทำที่สี่แยกถนนราชภาคิไนยต่อจากถนนท่าแพ เป็นรูปทรงจั่วปราสาท มีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า “จีรญชีว มหาราช” หมายถึง ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงพระชนมายุยืนนาน



















ซุ้มประตูที่ ๘ บริษัทอิสเอเชียติ๊ก มารค เป็นเจ้าของ ทำที่สี่แยกกลางเวียง เป็นประตูยอดประกอบป้อม มีตัวอักษรผูกเป็นคาถาว่า “รชเช ติฎฐาหิ โสตถินา” หมายถึง ขอจงทรงประดิษฐานในราชัยโดยสวัสดิ์เดน















ซุ้มประตูที่ ๙ และ ที่ ๑๐ ทำที่แนวกำแพงหน้าศาลารัฐบาล เป็นรูปประตูโค้ง ของบริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนเวนซ์ ลำปาง ซุ้ม ๑ เป็นของบริษัทแองโกลสยาม ลำปาง ซุ้ม ๑ ทั้ง๒ ซุ้มนี้ประดับด้วยไฟฟ้าอย่างเดียวกัน ซุ้มที่ ๙ มีตัวอักษรผูกเป็นภาษาบาลีว่า “ สพเพ เวรีวินสสตุ” หมายถึงขอสรรพไพรีจงพินาศ ซุ้มที่ ๑๐ มีตัวอักษรผูกเป็นภาษาบาลีว่า “สทา อตถุ ชโย ชโย” หมายถึง ขอชัยชำนะจงมีทุกเมื่อเทอญ



๓.๔ การเสด็จฯถึงเมืองเชียงใหม่

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงการรับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า

“วันเสด็จถึงเชียงใหม่ ประทับพักที่สถานีรถไฟครู่หนึ่งแล้วเจ้าเชียงใหม่แก้วนวรัฐผู้เป็นเชษฐาพระราชชายาขึ้นคอช้างนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชายาขึ้นขี่คอช้างนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์เข้าเมืองด้วยกระบวนแห่ช้าง ๘๐ เชือก ช้างกระบวนแต่งอย่างโบราณ คลุมหน้าและตัวด้วยผ้าสีแดงติดเงินเป็นแผ่นๆ มีฆ้องกลองตีอย่างพื้นเมืองมาในกระบวน และมีคนแต่งตัวอย่างนักรบโบราณถืออาวุธโล่แหลนหลาวดาบมีดมา ๒ข้างช้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศจอมพลทหารบก ทรงถือคทายกรับคำนับราษฎรของพระองค์ของพระองค์มาบนกูบเปิดหลังช้างพระที่นั่ง มีเจ้าไชยสงครามแต่งเต็มยศโบราณถือขอช้างพนมมือมาที่หัวและเจ้าประพันธ์ฯแต่งตัวแบบโบราณนั่งมาเป็นท้ายช้างพระที่นั่ง เสียงฆ้องกลองและสีสันของกระบวนแห่และท่าทางของช้างเดินมาเป็นทิว เป็นสิ่งที่แลดูแล้วกระพริบตาไม่ได้ ทำให้ลืมตัวไปว่าอยู่ในสมัยปัจจุบัน-กลายเป็นเกิดผูกพันเห็นปู่ย่าตายายเขายกทัพไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในความเป็นไทย ราษฎรแน่นไปทั้งสองข้างถนนที่เสด็จออกจากสถานีรถไฟไปยังที่ประทับศาลากลางราว ๑ ชั่วโมง ราชทูตต่างๆในกรุงเทพฯพากันขึ้น mail train ตามไปดูแห่ในวันนั้น Dr. Asmis ราชทูตเยอรมันทูลเสด็จพ่อว่า –เกิดมาไม่เคยเห็นอะไรที่จับใจเช่นนี้เลย “

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย และท่านหญิงเหลือไปนั่งดูแห่กับพระราชชายาที่พลับพลาสุดทางเสด็จ พอช้างตัวแรกเดินเข้าประตูซุ้มที่ทำขึ้นรับเสด็จจะเข้ามาผ่านพลับพลา ลูกเสือที่ตั้งแถวรับเสด็จเกิดเล่นแตรขึ้นสนั่น พอท่านเหลียวไปเห็นพระราชชายายกพระหัตถ์ขึ้นชี้ว่า “หยุดช้างจะตื่น” เท่านั้นแตรก็หยุดสนิททันที มีเจ้าหญิงเล็กๆ แต่งไทยเหนือ โปรดดอกไม้หอมสดใส่ขันทองคำ ๒ ข้างทางเสด็จแต่เกยจนถึงพลับพลาเจ้านาย ขุนนาง พ่อค้าทั้งหญิงชายเฝ้าแล้วก็เสด็จขึ้น

จากศึกษาเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพนี้ พบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้อำนวยการจัดการทั้งหมด และมีการประชุมปรึกษากันของคณะอภิรัฐมนตรีและเสนาบดีพระคลังในเรื่องของงบประมาณและวันเวลาสถานที่ในการเสด็จอย่างละเอียดและประหยัด มีการเตรียมการและการจัดการเกี่ยวกับการรับเสด็จฯให้ประชาชน พ่อค้าชาวฝรั่ง จีนและพม่า ตลอดจนคนพื้นเมืองในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำซุ้มรับเสด็จอย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่จัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ เพราะเจ้านายฝ่ายเหนือผู้เป็นหลักสำคัญ คือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่สำคัญ คือมีพิธีแห่เข้าเมือง ฟ้อนรับเสด็จ และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน











บทที่ ๔

ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลง

เกี่ยวกับการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ



ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัย ตั้งคำถามขึ้นมาว่า การเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ ก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างไรบ้างนั้น ผู้วิจัยแลเห็นความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากการหมุนผ่านของกาลเวลา ๘๐ ปี ดังต่อไปนี้



๔.๑ พระราชประสงค์ในการสร้างพระราชวังที่เชียงใหม่ : ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงภายหลังการเสด็จนิวัติพระนคร



หลังจากการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพในปีพ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ในการสร้างพระราชวังบริเวณริมแม่น้ำปิง ที่เมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏในหลักฐานเอกสารใบบอกมณฑลพายัพที่ ๕๗๘ ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ความว่า

“สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ ขอพระราชทานกราบทูลถึง นายพล เอก สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ความว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จ พระราชดำเนินกลับมาจากมณฑลพายัพ ก็ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้าง พระราชวังขึ้นที่เชียงใหม่ ให้ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง เพื่อเป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถ เวลาเสด็จมาประทับที่เชียงใหม่ พระราชชายาจึงได้น้อมเกล้าฯถวายที่สวนหลวงซึ่ง เป็นที่เจ้าผู้ครองนครรับมรดกสืบต่อกันมา อยู่ริมแม่น้ำปิงใต้เมืองเชียงใหม่ ระยะทาง ประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาราชนกูล สมุหเทศาภิบาล จัดทำ แผนที่บริเวณที่ต้องพระราชประสงค์ส่งเข้ามาทูลเกล้าถวาย พร้อมทั้งสำรวจที่ดินที่จะ ซื้อทั้งหมด ๙๙ ราย จึงให้ข้าราชการ ๓ คน ได้แก่ พระประสานพันธุกิจ เกษตร มณฑล เจ้าบุรีรัตน์ผู้ช่วยราชการ และหลวงบำรุงเนาวกรณ์ นายอำเภอเมืองไป สอบถามราคาที่ดิน จึงได้ราคาที่เจ้าของเรียกร้องตามสมควรพอจะซื้อได้ ๘๔ ราย เป็นที่ดิน ๑๙๑ ไร่ ๒ งาน ๘๔ วา ๓ ศอก คิดราคารวมค่าที่ดินค่าต้นผลไม้และค่ารื้อ ถอนเป็นเงิน ๓๔,๓๐๖ บาท ๖๑ สตางค์ ที่ดินที่เจ้าของเรียกราคาเกินที่สมควร ๑๕ ราย เป็นพื้นที่ดิน ๔๒ ไร่ ๑ งาน ๒ วา ๑ ศอก เป็นเงิน ๒๐,๐๘๘ บาท ๕๐ สตางค์ ส่วนที่ดินหมายเลข ๔-๕ เป็นที่สุเหร่าแขก ไม่ได้ตีราคาแต่หัวหน้าที่รักษาสุเหร่าร้อง ขอว่าถ้าต้องพระประสงค์ก็ขอให้หาที่ปลูกสุเหร่าให้ใหม่ กะราคาประมาณ ๒,๕๐๐ บาท สำหรับที่ดินหมายเลข ๙๑ ของนายจู เนื้อที่ ๕ ตารางวา และที่ดินหมายเลขที ๑๐๒ ของนายปัญญา เนื้อที่ ๗ ตารางวา เป็นเนื้อที่เล็กน้อย เจ้าของมีความยินดีที่ จะทูลเกล้าถวาย “

สำหรับสถานที่ดังกล่าว ปรากฏในหลักฐานแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และแผนผังที่นำมาแสดงดังนี้















ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. แผนที่ที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ผร.๗.๓๖ แผนที่ที่ดิน และบัญชีเจ้าของที่ดินบริเวณบ้านชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องซื้อใช้ในการสร้างพระราชวัง จ.เชียงใหม่



๔.๒ มรดกหลักฐานประวัติศาสตร์ : ภาพถ่ายและภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปัญญาชนสยามพระองค์แรกๆ ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพและการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง ในการเสด็จฯเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพครั้งนี้ มีหลักฐานภาพถ่ายและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเสด็จฯและพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึงสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิตผู้คน โบราณวัตถุสถานส่วนหนึ่งได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนว่าทุกวันนี้สถานที่ต่างๆหลายแห่งตามเส้นทางการเสด็จฯมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บ้างก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ บ้างก็กลายเป็นศาสนสถาน วัดวาอารามหรือสำนักสงฆ์ บ้างก็เสื่อมทรุดและสูญหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ บ้างก็กลายเป็นสถานที่ราชการที่ยังคงมีกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



๔.๓ ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ราชการ โบราณสถานที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ



๔.๓.๑ สถานีที่ราชการ วัดและโบราณสถานในเมืองพิษณุโลก

สถานที่ราชการ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเปิดโรงเรียนพิษณุวิทยายน ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนดังกล่าวได้ยุบรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เสด็จฯทอดพระเนตรกิจการสหกรณ์ และพระราชทานพระบรมราโชวาทกาลูกเสือ

วัดและโบราณสถานในเมืองพิษณุโลกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯทอดพระเนตร ทรงสมโภช และทรงบูชาประกอบไปด้วย ๕ แห่ง ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดนางพระยา วัดจุฬามณี และ บวงสรวงอดีตมหาราชที่โบราณสถานวังจันทร์

เพื่อให้เห็นสภาพของการเปลี่ยนแปลงของโบราณสถาน ผู้วิจัยจึงขอเลือกนำตัวอย่างภาพถ่ายเก่าบางภาพในหนังสือจดหมายเหตุการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ มาแสดงเปรียบเทียบกับภาพถ่ายปัจจุบันเท่าที่จะทำได้ในเวลาจำกัด ดังนี้





วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดใหญ่ หรือ วัดพระศรี กันจนติดปากแม้ พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ“พระพุทธชินราช” ชาว เมืองพิษณุโลก ก็นิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” ตามไปด้วย วัดใหญ่ นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทาง จิตใจของชาวเมือง และชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่าน ฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการ สร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๐ ภายในวัดมีสิ่งโบราณสถานโบราณ วัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมาร วิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว และสูง ๗ ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกาย อ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มี ปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า “ทีฒงฺคุลี” ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก สร้างในสมัยอยุธยา แกะสลัก เป็นรูปมกร(ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ ๒ องค์ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรด ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่สุทัศน์เทพวราราม และวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ ๑)บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้าสร้าง ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ เป็นฝีมือช่างหลวงสมัย อยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ ตรงกลางประตูมีสันอกเลา ประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลา มีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า“นมอกเลา” เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของพระพุทธองค์ ประดิษฐานบนบัลลังก์ อยู่ในบุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่ง เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสาม ชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็น รูปกุมภัณฑ์ ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตู เป็นลายกนก ที่มีภาพสัตว์ หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และ ภาพสัตว์อื่นๆ และยังมีลาย “อีแป” ด้านละ ๙ วง มัดนกหู ช้างประกอบช่องไฟ ระหว่างวงกลม หรือ วงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราช ทำด้วยไม้สักแกะ สลัก เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จ แล้วบานประตูเก่า ได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ๒)พระเหลือ พระยาลิไท รับสั่งให้ช่างนำเศษ ทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระ พุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดามารวมกันหล่อพระพุทธรูป ปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า“พระเหลือ” และพระสาวก ยืนอีก ๒ องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมา รวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ ๓ ต้น บนชุกชีเรียก ว่า“โพธิ์สามเส้า”ระหว่างต้นโพธิ์ ได้สร้างวิหาร น้อยขึ้นหนึ่งหลังอัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า “วิหารพระเหลือ” ๓) พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ด้านหลังพระวิหาร สูง ๑๘ ศอก สร้างในสมัยเดียวกับ พระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหาร ได้พังไปจนหมดเหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ๓-๔ ต้น เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” พระปรางค์ประธาน ศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ เดิมเป็น เจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (ภาพถ่ายเก่า)

สังเกตได้ว่าพระพุทธรูปยืน มีพุทธลักษณะปางลีลาเอียงพระโสภีเล็กน้อย













วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (ภาพถ่ายปัจจุบัน)

มีร่องรอยการขุดแต่งทางโบราณคดี ด้านหน้าวิหารและมีการบูรณะพระพุทธรูปแล้วทำให้พระพุทธรูปมีลักษณะประทับยืนตรง









วัดจุฬามณี

ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร

วัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และมีความสำคัญควบคู่กับเมืองพิษณุโลก วัดจุฬามณีมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระปรางค์

พระอุโบสถ พระวิหาร และพระมณฑปพระพุทธบาท เป็นต้น วัดจุฬามณีจึงเป็นชุมชนโบราณที่มีความเจริญ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม และวรรณคดี









วัดจุฬามณี (ภาพถ่ายเก่า)







วัดจุฬามณีหลังการบูรณะ ( ภาพถ่ายปัจจุบัน)













อุทยานประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์

จังหวัดพิษณุโลกมีโครงการที่จะจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์ขึ้นในบริเวณพระราชวังจันทร์เดิม และบริเวณพื้นที่ที่เป็นโบราณสถานใกล้เคียง เพื่อให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลกต่อไป

พระราชวังจันทร์ ปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระราชวังที่พระมหากษัตริย์ได้โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จว่าราชการมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างกรุง

รัตนโกสินทร์ ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ในขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่มีความเข้มแข็งพอ เพราะพม่าได้ส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชดำริว่า ไม่มีกำลังทหารพอที่จะป้องกันเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ จึงทรงรวมกำลังพลเพื่อทำสงครามที่กรุงรัตนโกสินทร์เพียงที่เดียว และโปรดให้รื้อทำลายป้อมปราการ กำแพงเมือง และปราสาทราชมณเฑียรในพระราชวังจันทน์เสียสิ้น เพื่อมิให้พม่าข้าศึกใช้เป็นฐานที่มั่นส้องสุมกำลังผู้คนและเตรียมเสบียงอาหาร พร้อมที่จะทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีก พระราชวังจันทร์จึงถูกทำลายได้รับความเสียหายอย่างหนัก และถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เหลือแต่เพียงชื่อเท่านั้น

พระราชวังจันทร์ ได้มีการค้นพบอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จไปเมืองพิษณุโลก เพื่อทำการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง และเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พบพระราชวังจันทน์ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับสั่งให้ขุนศรีเทพบาลทำการสำรวจ รังวัด และทำแผนผังประกอบเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังจันทร์ด้วย จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ได้มีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากวัดนางพญามาตังที่พระราชวังจันทร์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก เพื่อให้โรงเรียนดูแลรักษาพระราชวังจันทน์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้รับเงินงบประมาณให้สร้างอาคารเรียน เป็นอาคาร ๔ ชั้น ในระหว่างการก่อสร้างคนงานได้ขุดหลุมเสาจึงได้พบซากอิฐเป็นแนวกำแพง จังหวัดพิษณุโลกจึงได้แจ้งให้หน่วยศิลปกรมาตรวจสอบ หน่วยศิลปกรได้สำรวจพบ กำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นนอก ประตูพระราชวังจันทร์และทิมดาบ พบกำแพงพระราชวังจันทร์ชั้นใน ประตูพระราชวังจันทร์ และเนินฐานพระราชวังจันทร์ในบริเวณสนามโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม กรมศิลปกรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดเขตพระราชวังจันทน์ให้ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อมีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ตำบลท่าทองแล้ว กรมศิลปกรมีโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์พระราชวังจันทร์ และบริเวณใกล้เคียงให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์ต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน