งานเสวนาสารพันวันปิยะ : เรื่องน่ารู้ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง

สารพันวันปิยะ : เรื่องน่ารู้ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง
วันอังคาร ที่ 19 ตุลาคม 2553  เวลา 12.30-13.30 น.

เวลา 12.15 น.
MC : สวัสดีค่ะสมาชิกชาวมินิทีเคทุกท่าน เดี๋ยวอีกสักครู่ เราจะมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ สารพันวันปิยะ : เรื่องน่ารู้ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง กันค่ะ ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และทางทีเคขออนุญาตใช้เสียงในบริเวณนี้ตั้งแต่เวลา 12.30 -13.30 น. ขอบคุณค่ะ

เวลา 12.30-13.30 น.
MC : สวัสดีค่ะสมาชิกชาวมินิทีเคทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับโครงการ Art of Living ศิลปะการใช้ชีวิต” กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำสิ่งรอบตัวมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ วันนี้ ปิ๋ม กณิกนันท์ อำไพ นักจัดการความรู้อาวุโส สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการค่ะ
หัวข้อ สารพันวันปิยะ : เรื่องน่ารู้ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง ที่เราจะพูดคุยในวันนี้ จัดขึ้นเนื่องในวโรกาส วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2553 ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 100 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยค่ะ และวิทยากรของเราในวันนี้ ทางอุทยานการเรียนรู้ทีเคปาร์คได้รับเกียรติจาก คุณฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค่ะ
MC : สวัสดีค่ะ คุณฉัตรบงกช (พี่ไวท์ ) เป็นที่ทราบกันแล้วว่า วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคมนี้ คือวันปิยะมหาราช และในปีนี้จะเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย วันนี้พี่ไวท์มีเรื่องอะไรมาบอกเล่า เกร็ดเรื่องน่ารู้ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงให้พวกเราฟังบ้างคะ
ฉัตรบงกช :  การสักการะบูชาพระบรมรูปทรงม้านั้นนิยมใช้ดอกกุหลาบสีชมพู ด้วยความเชื่อที่ว่า ดอกกุหลาบที่มีความงามและมีหนามแหลมคม (คืออำนาจ) หากนำมาบูชาจะทำให้ผู้บูชามีอำนาจ และสีชมพูยังเป็นสีของวันอังคาร (วันพระราชสมภพ)
แต่ในความจริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราชของปวงชนชาวไทยนั้น โปรดดอกกุหลาบมากกว่าไม้ดอกอื่นใด จะเห็นได้จากพระตำหนักที่ประทับก่อนขึ้นเสวยราชย์ ยังมีนามว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ แต่จะทราบกันหรือไม่ว่า มีกุหลาบสีชมพูพันธุ์หนึ่ง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งชื่อว่า กุหลาบ “King of Siam” หรือ กุหลาบ จุฬาลงกรณ์
จากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน ทำให้เราทราบว่า กุหลาบสายพันธุ์นี้ผสมขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อ พ.ศ.2451 เป็นเวลา 102 ปีมาแล้ว ที่สวนกุหลาบของชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์บรอยเออ สวนกุหลาบนี้อยู่ที่เมืองซานริโม เขตมณฑลปอโตมอริโซ แถบริเวียร่า เขตต่อแดนประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส
เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรถึงสวนของมิสเตอร์บรอยเออ ที่ผสมต้นกุหลาบสำหรับขายพันธุ์ทรงเล่าว่า วันนี้จับร้านดอกไม้ได้ ตัวผู้วิเศษ ที่ผสมดอกกุหลาบจะให้เปลี่ยนสี สลับกันอย่างไร จะให้ซ้อน ให้ลา อย่างไรอยู่ในอำนาจ... 
 มีกุหลาบที่ตานี่ผสมใหม่อย่างหนึ่ง ดอกโตเท่าดอกบัวสัตตบงกช กลีบซ้อนจนไม่แลเห็นเกสร สีเกือบเป็นบานเย็น เป็นพันธุ์ซึ่งยังไม่มีชื่อ เขาขอตั้งชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม (King of Siam) พ่อได้อนุญาตให้แกตั้ง ยังไม่สู้พอขอให้เขียนลงให้ในสมุดด้วย
แน่นอนว่าคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งนั้น ต้นกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่มีดอกสีบานเย็น มีกลีบซ้อนกันแน่น ดอกใหญ่งดงามอันมีนามว่า คิงออฟไซแอมทรงนำกลับมากับขบวนเสด็จเป็นแน่
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือจากนครเชียงใหม่ เวียงพิงค์ที่มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีอากาศเย็นใกล้เคียงกับอากาศในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนของทวีปยุโรปตอนใต้ ต้องเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานต้นกุหลาบอันมีค่าหายากนี้ไปปลูกที่พระตำหนัก ณ เมืองเชียงใหม่
พื้นที่อันเป็นที่สูง ดินตามไหล่เขา และอากาศเย็นของนครพิงค์ ให้กุหลาบคิงออฟไซแอม เจริญเติบโต ผลิดอกงดงาม ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในปีพุทธศักราช 2453 พระราชชายา เสด็จฯกลับไปประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ เป็นการถาวร ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ คือพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ อ.แม่ริม และพระตำหนักพระราชชายาฯบนดอยสุเทพ บริเวณโดยรอบพระตำหนักทั้งสองแห่งนั้น ทรงขยายพันธุ์กุหลาบที่ได้รับพระราชทานจากพระราชสวามีปลูกไว้มากมาย และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ จึงทรงเปลี่ยนชื่อกุหลาบ คิงออฟไซแอม เป็นกุหลาบพระปรมาภิไธย จุฬาลงกรณ์

MC :  ข้อต่อมาที่อยากรู้ค่ะ มีบางคนบอกว่า เครื่องสักการะที่ต้องถวายที่พระบรมรูปทรงม้า ได้แก่  1. น้ำมะพร้าวอ่อน  2. กล้วยน้ำว้า  3. ทองหยิบ  4. ทองหยอด  5. บรั่นดี  6. ซิการ์  7. ข้าวคลุกกะปิ  8. ดอกกุหลาบสีชมพู  เพราะเป็นสิ่งที่พระองค์โปรดปราน ข้ออื่นก็พอเข้าใจนะคะ แต่ข้อที่บอกว่าต้องถวายบรั่นดีนี่คาใจมากค่ะ เพราะเคยอ่านมาว่า พระพุทธเจ้าหลวงไม่โปรดเสวยน้ำจัณฑ์ (เหล้า) แล้วข้อเท็จจริงนี่ พี่ไว้ท์ทราบมั้ยคะว่าเป็นอย่างไรคะ
ฉัตรบงกช :  เรื่องในหลวง ร. 5 ไม่โปรดเสวยน้ำจัณฑ์ มีบันทึกกันทั่วไป  เมื่อคราวไปยุโรป ก็ทรงปฏิญาณตนว่าจะรักษาศีล 4 ข้อ และข้อ 5 นั้น อาจต้องดื่มเพื่อเข้าสังคม แต่จะไม่ให้เสียจริยา เมื่อเสด็จนิวัติพระนครก็ทรงบอกบริสุทธิ์ต่อหน้าพระราชาคณะว่า รักษาคำปฏิญาณได้ โดยขณะที่ประพาสยุโรปนั้น ในงานสโมสร ก็มีเจ้านายยุโรปจับได้ว่าในแก้วของพระองค์นั้น เป็นน้ำเปล่า
ในหนังสือ ชีวิตในวังบางขุนพรหม ของ คุณกิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร มีตอนหนึ่งในหน้า 122 เขียนว่า
" สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไม่โปรดเสวยเหล้า ดังมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในปี พ.ศ 2440 ผู้จัดการรับเสด็จฯ ได้นำขวดเหล้าวิสกี้มาตั้งไว้ภายในห้องพระบรรทม เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ กริ้วโกรธ ด้วยพระองค์ท่านไม่ทรงโปรดเสวยเหล้า ทรงมีพระราชดำรัสว่า " จัดการกันอย่างนี้ ลูก ๆ ของข้าจะติดเหล้า และกลายเป็นคนขี้เมากันหมด "
พอจะทราบข้อเท็จจริงแล้ว นะคะ ว่า รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านไม่ทรงโปรดเสวยน้ำจัณฑ์(เหล้า) เราก็เปลี่ยนเป็นนำดอกไม้ พวงมาลัย ไปถวายแทน เอาความเป็นสิริมงคล ให้กับตัวเอง จะดีกว่านะคะ

MC : เมนูอาหารทรงโปรด
ฉัตรบงกช : ปลาทูทอด ข้าวต้มสามกษัตริย์(ใส่กุ้ง ปลาทูและปลาหมึก) ขนมจีนน้ำยา ฯลฯ
MC : พระปิยะมหาราชในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์
ฉัตรบงกช :  ร้ชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้เขียนภาพจิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือนที่พระวิหารหลวง พร้อมภาพรัชกาลที่ 4 ทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 4 ในการคำนวญการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ
MC :  พี่ไวท์คะ ปิ๋มเคยได้ยินคนพูดว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียงของทีเคปาร์ค สร้างขึ้นจากเงินเฉลิมพระขวัญของพระพุทธเจ้าหลวง เงินเฉลิมพระขวัญคืออะไรคะ
ฉัตรบงกช :  เงินเฉลิมพระขวัญคือ เงินที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทรัพย์ตามกำลังเพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นเงินเฉลิมพระขวัญ หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า ทำขวัญแล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย โดยในครั้งนั้น ประชาชนร่วมกันถวายเงินเฉลิมพระขวัญเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสการจัดงาน พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับได้ ๔๒ ปี  ในขณะนั้นนับเป็นรัชกาลยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นบรรดาได้ปกครองประเทศสยามมา ในเวลานั้นการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ราคาสร้างพระรูปตกอยู่ราว 200,000 บาทในขณะนั้น
เงินเฉลิมพระขวัญครั้งนั้น  เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ยังเหลือตัวเงินอยู่ล้านกว่าบาท  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่าจะนำเงินนั้นไปใช้ประการใดเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยเพื่อสนองคุณความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระองค์นั้น ยังไม่ทันตกลงว่าจะทำประการใด ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยโปรดให้ใช้เงินเฉลิมพระขวัญที่ยังเหลืออยู่ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( คัดจาก "ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" )

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มรดกทางวัฒนธรรม : กลไกการสร้างต้นกล้าพลเมืองของชุมชนตลาดนางเลิ้ง

การใช้เครื่องประดับของคนไทยสมัยก่อน

ความรักชาติ